(Minghui.org) ตลอดประวัติศาสตร์ เทือกเขาหิมาลัยเป็นพื้นที่ที่มีผู้บำเพ็ญธรรมมากมาย ประชาชนที่นั่นใช้ชีวิตเรียบง่ายและสมถะ ทุกคนร้องเพลงและเต้นรำ พวกเขาบูชาพุทธธรรมด้วย เกือบ 1,000 ปีก่อน มีผู้บำเพ็ญในดินแดนนี้ชื่อมิลาเรปะ ในขณะที่พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์จำนวนมากใช้เวลาหลายชั่วชีวิตและผ่านภัยพิบัติมากมายก่อนที่จะบำเพ็ญจนสำเร็จ มิลาเรปะกลับบรรลุอานุภาพแห่งเต๋อ (เวยเต๋อ) ที่เทียบเท่ากันในชั่วชีวิตเดียว และต่อมาเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ก่อตั้งนิกายขาวของพุทธศาสนาในทิเบต

วันหนึ่งมิลาเรปะบรรยายหลักธรรมมหายานในถ้ำที่หน้าผาเมืองญานัม ทิเบต ผู้ฟังมีทั้งสานุศิษย์ เช่น เรชุงปะและกัมโปพะ ตลอดจนศิษย์หญิงและทานบดีทั้งชายและหญิง นอกจากนี้ยังมีฑากิณีอีกจำนวนมาก หรือที่เรียกตามตัวอักษรว่า “นภจรหญิง” ที่บรรลุในแสงสีรุ้ง (ในภาษาสันสกฤต สิ่งมีชีวิตเหล่านี้เรียกว่าฑากิณีหรืออักษรทิเบตว่า MkhaihGro-ma) และเหล่าโยคี

คืนก่อนหน้านั้น เรชุงปะฝันว่าได้เดินทางไปยังสถานที่แห่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะเป็นดินแดนบริสุทธิ์ฑากิณี มันเป็นเมืองใหญ่ที่มีอาคารที่ประดับด้วยอัญมณีแวววาว ภายในเมืองผู้คนสวมเสื้อผ้าสวรรค์สวยงามพร้อมสร้อยคอหยก แม้ว่าพวกเขาทั้งหมดจะยิ้มและพยักหน้าให้เรชุงปะแต่ก็ไม่มีใครพูดกับเขาเลย

สาวน้อยคนหนึ่งสวมชุดสีแดงทักทายเขาอย่างอบอุ่นว่า “ศิษย์หนุ่ม [ของอาจารย์คนเดียวกัน] คุณมาที่นี่ตั้งแต่เมื่อไหร่ ยินดีต้อนรับ ! ยินดีต้อนรับ !" เรชุงปะเหลือบตาขึ้นมอง ก็เห็นว่าเธอเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนธรรมะของเขาชื่อภาริมะโดยเรียนกับท่านอาจารย์ติภูผาผู้ยิ่งใหญ่ในเนปาล

“คุณมาถูกเวลาพอดี” ภาริมะพูด “พระพุทธเจ้าอักโษภยะ (หนึ่งในห้าธยานิพุทธ) กำลังสอนธรรมะอยู่ที่นี่ตอนนี้ ถ้าคุณสนใจ ฉันจะขออนุญาตให้คุณเข้าฟังด้วย”

เรชุงปะพูดอย่างตื่นเต้นว่า “ผมปรารถนาที่จะได้พบพระพุทธเจ้าอักโษภยะมาหลายปีแล้ว เป็นโอกาสอันล้ำค่าที่จะได้ฟังการบรรยายของพระองค์ กรุณาขอร้องในนามของผมด้วย”

ภาริมะเชิญเรชุงปะไปงานเลี้ยงที่มีอาหารรสเลิศก่อนที่พวกเขาจะเดินไปฟังการบรรยายธรรมซึ่งจัดขึ้นในพระราชวังอันโอ่อ่าอลังการ โดยมีพระพุทธเจ้าอักโษภยะทรงประทับบนบัลลังก์ตรงกลาง พระองค์ดูศักดิ์สิทธิ์อย่างไร้ขอบเขตเกินกว่าจินตนาการของมนุษย์ เหล่าเทพจำนวนนับไม่ถ้วนมารวมตัวกันที่นั่นเพื่อฟังการบรรยายธรรม มากันมากจนดูเหมือนมหาสมุทรที่ไร้ขอบเขต มันยิ่งใหญ่กว่าการประชุมใด ๆ ที่เรชุงปะเคยเห็นมาก่อนหน้านี้ เมื่อเห็นภาพนี้ เขารู้สึกมีความสุขและตื่นเต้นสุดจะพรรณนา เพื่อนร่วมชั้นของเขาขอให้เขารอให้เธอขออนุญาตก่อน ผ่านไปสักครู่เรชุงปะเห็นพระพุทธเจ้าอักโษภยะยิ้มให้เขา เมื่อทราบว่าได้รับอนุญาตแล้ว เรชุงปะก็หมอบกราบเพื่อแสดงความเคารพ (คุกเข่าและก้มหน้าลงติดพื้น) แล้วนั่งลงเพื่อฟังการบรรยายธรรม

ในวันนั้น พระพุทธเจ้าอักโษภยะพูดเกี่ยวกับเส้นทางชีวิตของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์องค์ก่อน ๆ ซึ่งซาบซึ้งมาก จากนั้นทรงบรรยายเรื่องราวของท่านติโลปะ นาโรปะ และมาร์ปะ [ปรมาจารย์เชื้อสายพุทธศาสนาทิเบตหรือหิมาลัย] เรชุงปะไม่เคยได้ยินการอธิบายที่ละเอียดและชัดแจ้งเช่นนี้มาก่อน

เมื่อใกล้สิ้นสุดการรวมตัวกัน พระพุทธเจ้าอักโษภยะตรัสว่า “ในบรรดาชีวประวัติทั้งหมด ชีวประวัติของมิลาเรปะมีเอกลักษณ์ ยิ่งใหญ่ และน่าประทับใจที่สุด กรุณามาวันพรุ่งนี้แล้วพระองค์จะบรรยายต่อ”

หลังจากนั้นเรชุงปะได้ยินคนหลายคนคุยกันเรื่องนี้ในหมู่พวกเขา “มันยากที่จะจินตนาการว่ามีชีวประวัติของผู้อื่นที่พิเศษและอัศจรรย์กว่านี้ !” คนหนึ่งพูด

“เรื่องราวที่เราได้ยินในวันนี้เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์หลายท่านที่บำเพ็ญมาหลายชั่วชีวิตและผ่านภัยพิบัติมากมาย แต่มิลาเรปะบรรลุเวยเต๋อเช่นเดียวกันในชั่วชีวิตเดียว นั่นคือเหตุผลว่าทำไมจึงมีเอกลักษณ์ยิ่งนัก !” อีกคนตอบ

“ถ้าชีวประวัติอันล้ำค่าเช่นนี้ถูกฝังไว้ มันจะไม่สูญเปล่าหรือ ถ้าเราไม่ขอพระองค์ที่เคารพให้บรรยายเพื่อประโยชน์ต่อสรรพชีวิต ศิษย์อย่างพวกเราก็จะมีบาปมิใช่หรือ เราต้องอธิษฐานอย่างจริงใจและขอให้พระพุทธเจ้าบรรยายชีวประวัตินี้ !” อีกคนเสริม

“ท่านมิลาเรปะที่เคารพตอนนี้อยู่ที่ไหน” คนแรกถาม

“ท่านมิลาเรปะที่เคารพหรือ ท่านไม่ได้อยู่ในเมืองอภิรติ (ดินแดนบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้าอักโษภยะ (Pure Land of Buddha Akshobhya)) ท่านอาจจะอยู่ในดินแดนแห่งแสงอันเงียบสงบชั่วนิรันดร์ (Land of Eternally Tranquil Light)” อีกคนพูด

เมื่อได้ยินคำพูดเหล่านี้ เรชุงปะก็คิดว่า “ท่านอาจารย์อยู่ในทิเบตชัด ๆ ทำไมพวกเขาจึงบอกว่าท่านอยู่ในดินแดนแห่งแสงอันเงียบสงบชั่วนิรันดร์ แต่ไม่ว่าอย่างไร คำพูดเหล่านี้ก็ดูเหมือนจะมุ่งมาที่ผมอย่างชัดเจน ผมควรขอให้ท่านอาจารย์บรรยายเกี่ยวกับชีวประวัติของท่าน” เมื่อคิดเช่นนี้ ภาริมะก็ยกมือขึ้นอย่างอบอุ่นแล้วเขย่าพวกเขาเบา ๆ “ท่านเข้าใจแล้วใช่ไหม” เรชุงปะรู้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และความรู้สึกนั้นก็แรงมากจนปลุกเขาให้ตื่นและพร้อมจะเริ่ม

มันเป็นเวลาย่ำรุ่งแล้ว เรชุงปะรู้สึกปลาบปลื้มและคิดว่า “ถึงแม้การฟังการบรรยายธรรมของพระพุทธเจ้าอักโษภยะจะล้ำค่ามาก แต่ก็โชคดีกว่าที่ได้อยู่กับท่านอาจารย์ของเรา ผมคิดว่าท่านอาจารย์เสริมกำลังให้ผมได้ฟังการบรรยายธรรมของพระพุทธเจ้าอักโษภยะ ผู้คนที่นั่นบอกว่าท่านอาจารย์อยู่ในอภิรติหรือดินแดนแห่งแสงอันเงียบสงบชั่วนิรันดร์ ในขณะที่เราคิดว่าท่านอาจารย์อยู่ในทิเบต ที่จริง “กาย วาจา ใจ” ของท่านอาจารย์ก็ไม่ต่างจากพระพุทธเจ้าองค์อื่น ๆ เวยเต๋อของท่านก็ไม่อาจจินตนาการได้ ผมเคยคิดว่าท่านอาจารย์อยู่ที่ทิเบตเท่านั้นและท่านดูคล้ายกับเราที่กำลังใช้ชีวิตอยู่เหมือนคนธรรมดาสามัญ ผมไม่รู้ว่าท่านอาจารย์ทรงบรรลุพุทธภาวะแล้วและมีธรรมกาย (ฝ่าเซิน) อยู่ทั่วจักรวาล การปรากฏของท่านยิ่งน่าอัศจรรย์กว่านั้นอีก เป็นเพราะกรรมใหญ่ของเราเองจึงมองท่านผู้รู้แจ้งเป็นคนธรรมดาสามัญ มันเป็นการดูถูกผู้รู้แจ้งอย่างแท้จริง ! ความฝันของผมเมื่อคืนไม่ใช่ความฝันปกติ มันเป็นคำใบ้จากเพื่อนร่วมชั้นของผมและฑากินีอื่น ๆ ให้ไปขอท่านอาจารย์บรรยายธรรม ผมต้องขอท่านอาจารย์ !” เมื่อคิดเช่นนี้ในใจ เรชุงปะก็มีศรัทธาอันแรงกล้า เขาพนมมือ เพื่อสักการะท่านอาจารย์อย่างจริงใจ

ทันใดนั้นบริเวณรอบ ๆ เขาก็สว่างขึ้นในทันที ฑากินีที่แต่งกายหรูหราสวยงามหลายองค์ปรากฏตัวต่อหน้าเขาและเดินไปหาเขา องค์หนึ่งพูดว่า “พรุ่งนี้จะมีการบรรยายเกี่ยวกับชีวประวัติของท่านมิลาเรปะ ไปฟังกันนะ”

“ใครจะเป็นคนขอให้ท่านบรรยายธรรมละ” อีกองค์ถาม

ฑากินีองค์หนึ่งยิ้มให้เรชุงปะแล้วพูดว่า “แน่นอน ต้องเป็นศิษย์เอกของท่านอาจารย์ !”

ฑากินีอื่น ๆ หลายองค์มองไปที่เรชุงปะและยิ้ม องค์หนึ่งพูดว่า “การขอให้ท่านอาจารย์พูดถึงชีวประวัติของท่านจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งเราและคนอื่น ๆ เราไม่เพียงอยากฟังชีวประวัติของท่านอย่างมาก แต่เราจะช่วยกันอธิษฐานขอให้ท่านอาจารย์มอบความเมตตากรุณาที่จะบรรยายเรื่องนี้ให้เราฟังด้วย เราจะปกป้องคำสอนนี้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสรรพชีวิตรุ่นต่อไปในอนาคตด้วย” ฑากินีหายไปด้วยคำเหล่านั้น

เมื่อเรชุงปะตื่นขึ้นมาอีกครั้ง ก็เป็นเวลากลางวันแล้ว “เห็นได้ชัดว่าฑากินีสนับสนุนให้ผมขอให้ท่านอาจารย์บรรยายธรรม” เขาเข้าไปขอให้ท่านมิลาเรปะที่เคารพบรรยายธรรมในที่ประชุมด้วยความยินดี หลังจากหมอบกราบเพื่อสักการะแล้ว เขาก็คุกเข่าลงต่อหน้าท่านอาจารย์ที่เคารพ แล้วพนมมือที่หน้าอกและขอว่า “ท่านอาจารย์ พระพุทธเจ้าในอดีตนับจำนวนไม่ถ้วนมีการแสดงออกให้เห็นอย่างหลากหลายและมีความสำเร็จที่ไม่สามารถจินตนาการได้ทุกรูปแบบเพื่อจะช่วยเหลือมนุษย์ทั้งหลาย ชีวประวัติอันล้ำค่าของพวกท่านได้รับการเผยแพร่ในโลกนี้เพื่อเป็นพรแก่ผู้คนและส่งเสริมพระพุทธธรรม ปรมาจารย์รวมทั้งท่านทิโลปะ นาโรปะ และมาร์ปะ ยังได้กล่าวถึงชีวประวัติของตนซึ่งส่งต่อไปยังผู้คนในโลกเพื่อให้พวกเขาได้บำเพ็ญ ตอนนี้เราหวังว่าท่านอาจารย์จะเมตตาบรรยายเกี่ยวกับอดีตของท่านเพื่อเป็นประโยชน์ต่อศิษย์และสรรพชีวิตในอนาคต”

ท่านมิลาเรปะที่เคารพได้ยินเช่นนี้ก็พูดอย่างสงบว่า “เรชุงปะ เธอรู้เรื่องของข้าพเจ้ามากอยู่แล้ว แต่เมื่อเธอถาม ข้าพเจ้าก็จะตอบเธอ

“ข้าพเจ้าเป็นลูกหลานของชนเผ่าในคยุงโพ (Kyungpo) และบรรพบุรุษของข้าพเจ้าคือโจเซ ข้าพเจ้าเคยทำความชั่วต่อมาได้ทำความดี บัดนี้ข้าพเจ้าเลิกทำความดีและความชั่วแล้ว ทุกสิ่งที่มีความตั้งใจตอนนี้กลายเป็นอดีตของข้าพเจ้าไปแล้ว และข้าพเจ้าจะไม่ทำทุกสิ่งที่ตั้งใจในอนาคตเช่นกัน ถ้าอธิบายสิ่งเหล่านี้อย่างละเอียด หลายสิ่งจะทำให้ผู้คนร้องไห้อย่างขมขื่น และหลายสิ่งจะทำให้ผู้คนยินดีอย่างมาก มันยาวมากและเราจะข้ามมันไป ให้ผู้ชราอย่างข้าพเจ้าได้พักตามสบายสักหน่อย”

"ท่านอาจารย์ !" เรชุงปะคุกเข่าลงกับพื้นและขอร้องต่อไป

“ท่านช่วยอธิบายให้พวกเราฟังหน่อยว่าท่านบำเพ็ญอย่างขยันขันแข็ง เสาะแสวงหาพุทธธรรม และยกระดับจนสำเร็จสมบูรณ์และตรัสรู้ได้อย่างไร ท่านเป็นทายาทของคยุงโพ และบรรพบุรุษของท่านคือโจเซ แล้วทำไมนามสกุลของท่านถึงกลายเป็นมิลา ทำไมท่านจึงทำความชั่วก่อนแล้วต่อมาทำความดี โปรดเล่าเรื่องราวเหล่านั้นที่จะทำให้ผู้คนสะเทือนใจจนหลั่งน้ำตาหรือมีความสุข นี่เป็นคำขอไม่เพียงจากผมเท่านั้น แต่มาจากสานุศิษย์และทานบดีที่กระหายจะฟังด้วย โปรดมอบความเมตตาด้วยขอรับ”

“เพราะเธอขอร้องเช่นนี้ ข้าพเจ้าก็ไม่มีความลับอะไรและจะเล่าให้ฟัง” ท่านอาจารย์ที่เคารพพูดช้า ๆ พร้อมรอยยิ้ม “บรรพบุรุษของข้าพเจ้าเป็นชนเผ่าเร่ร่อนจากเผ่าคยุงโพทางภาคเหนือ ทวดของทวดของทวดของข้าพเจ้าคือโจเซ บุตรชายของลามะนิกายแดง เพราะว่ามนตร์ของผู้ฝึกได้รับการสนับสนุนจากเหล่าเทพ คาถาของเขาจึงมีพลังที่ยิ่งใหญ่ ปีหนึ่งเขาได้เดินทางไปแสวงบุญที่ Back Tibet เขาเดินทางไปยังสถานที่ทางตอนเหนือของทิเบตที่เรียกว่าชุงปาชี ที่นั่นเขาได้พบผู้คนที่ทุกข์ทรมานจากโรคระบาดที่เกิดจากปีศาจ เนื่องจากคาถาของเขามีพลังมหาศาล และกำจัดปีศาจได้มากมาย ผู้คนเริ่มเชื่อเขามากขึ้นเรื่อย ๆ ชาวบ้านขอให้เขาอยู่ที่นั่น เขาจึงตั้งรกรากอยู่ที่นั่นและต่อมาก็เริ่มมีครอบครัว

“อีกปีหนึ่งมีผีไปทำร้ายผู้คนที่นั่น มีครอบครัวหนึ่งไม่เชื่อลามะโจเซเลย ผีสร้างความเดือดร้อนให้ครอบครัวนี้ ปศุสัตว์ของเขาตายหรือหนีไป คนก็ป่วยและเห็นผีในเวลากลางวัน การคุกคามเหล่านี้เกิดขึ้นทุกวัน ไม่มีแพทย์คนใดที่ครอบครัวของเขาเชิญมารักษาโรคให้พวกเขาได้ ไม่มีลามะคนใดที่เขาเชิญมาปราบผีได้สำเร็จ พวกเขาหมดแรงหลังจากต่อสู้กับผี สุดท้ายครอบครัวนี้ทำอะไรไม่ได้ เพื่อนคนหนึ่งบอกกับพวกเขาว่า 'คุณต้องไปหาลามะโจเซ' คนอื่นทำไม่ได้ !'

“สมาชิกในครอบครัวคนหนึ่งพูดว่า 'ถ้ารักษาแผลให้หายได้ แม้แต่น้ำมันสุนัขก็อาจได้รับการพิจารณา เอาล่ะ เราจะเชิญเขา"

“แล้วครอบครัวนี้ก็ส่งคนไปเชิญลามะโจเซ

“ก่อนที่ลามะโจเซจะมาถึงกระโจมของครอบครัว เขาเห็นผีมาแต่ไกล พอผีเห็นโจเซก็เริ่มหลบหนี พลังอันศักดิ์สิทธิ์ของลามะโจเซก็ออกมา และเขาก็ร้องออกมาดัง ๆ ว่า 'เจ้าผี ! ข้า คยุงโพ โจเซ เชี่ยวชาญเรื่องการดื่มเลือดปีศาจและดึงเส้นเอ็นของพวกมัน ถ้าเจ้ากล้าหาญก็จงอยู่ตรงนั้นและอย่าหนีไปไหน !'

“ด้วยคำพูดเหล่านี้ เขาก็รีบเข้าไปหาผี ผีตัวสั่นด้วยความกลัวและร้องออกมาว่า 'น่ากลัว ! น่ากลัว ! มิลา ! มิลา !' (การออกเสียงคำว่า "มิลา" ในภาษาทิเบตแสดงถึงความรู้สึกถึงลางสังหรณ์ว่าจะเห็นยักษ์)

“โจเซไปถึงผี และมันหดตัวเองเล็กลงและไม่กล้าขยับ มันพูดด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า ‘ท่านลามะ ฉันไม่กล้าไปยังสถานที่ที่คุณเคยไป คุณไม่เคยมาที่นี่ ฉันเลยกล้ามา โปรดไว้ชีวิตฉันด้วย !'

“ลามะโจเซสั่งผีให้สัญญาว่าจะไม่ทำร้ายผู้คนอีกต่อไป ผีไม่มีทางเลือกอื่นจึงต้องสาบานตน ลามะโจเซจึงปล่อยมันไป

“ต่อมาผีเข้าสิงร่างของอีกคนหนึ่งแล้วพูดว่า 'มิลา ! มิลา ! คนนี้พลังมากเหลือเกิน ! ฉันไม่เคยกลัวขนาดนี้มาก่อนเลยตลอดชีวิตของฉัน เขามีพลังยิ่งใหญ่มาก ! มิลา ! มิลา !'

“ด้วยเหตุนี้ ลามะโจเซจึงมีชื่อเสียงมากขึ้น และผู้คนก็ตั้งชื่อเล่นให้เขาว่า มิลาลามะ เพื่อแสดงความเคารพ ต่อมาก็กลายเป็นนามสกุลของครอบครัวนี้ ชื่อของมิลาลามะจึงเป็นที่รู้กันดี

“คยุงโพ โจเซ มีลูกชายเพียงคนเดียวและมีหลานสองคน หลานคนแรกคือมิลา โดตอน เซงเก มีลูกชายเพียงคนเดียวชื่อดอร์เจ เซงเก

“ดอร์เจ เซงเก มีพรสวรรค์ด้านการพนัน และเขาสนุกกับการโยนลูกเต๋าเป็นพิเศษ ทักษะการพนันของเขายอดเยี่ยมมาก และเขามักจะชนะเสมอเมื่อเขาทอยลูกเต๋า

“ปีหนึ่ง มีนักต้มตุ๋นเร่ร่อนผ่านมาที่ชุงปาชี เขาเก่งเรื่องการพนันและหาเลี้ยงชีพจากมัน หลังจากได้รับเงินรางวัลมากมายและได้ยินว่าดอร์เจ เซงเกชอบการพนัน เขาก็เชิญ ดอร์เจ เซงเกมาเล่นเกมลูกเต๋า

“ในวันแรก เพื่อทดสอบทักษะของดอร์เจ เซงเก นักต้มตุ๋นลงเดิมพันเพียงเล็กน้อย และจงใจแพ้ให้กับดอร์เจ เซงเก วันต่อมาเขาแสดงทักษะของเขาและเอาชนะดอร์เจ เซงเกได้อย่างง่ายดาย ดอร์เจ เซงเกไม่เคยประสบกับความสูญเสียเช่นนี้มาก่อน เขาจึงเสียใจมากและพูดกับนักต้มตุ๋นว่า ‘พรุ่งนี้ฉันจะเอาชนะเพื่อเอาเงินทั้งหมดของฉันคืน คุณกล้าเดิมพันกับฉันอีกครั้งไหม’

"'แน่นอน !' นักต้มตุ๋นตอบสบาย ๆ

“วันที่สาม สี่ และห้า นักต้มตุ๋นพ่ายแพ้ทุกครั้ง ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือเพราะโชคไม่ดี

“จากนั้นนักต้มตุ๋นก็ท้าทายเขาให้ต่อสู้ขั้นเด็ดขาด 'ดอร์เจ เซงเก ! ผมแพ้ทุกวันในช่วงสองสามวันที่ผ่านมา ฉันจึงขอเสนอว่าพรุ่งนี้เราทั้งคู่จะเดิมพันทรัพย์สิน ปศุสัตว์ ที่ดิน ขนสัตว์ เงิน และเครื่องประดับทั้งหมดของเรา เราจะลงนามในข้อตกลงสำหรับการสู้ครั้งสุดท้ายโดยมีชาวบ้านเป็นพยาน และเราทั้งสองคนจะไม่ได้รับอนุญาตให้ถอยหลัง ไม่ว่าใครจะชนะก็ตาม คุณต้องการทำเช่นนี้ไหม’

“ดอร์เจ เซงเกตอบตกลงโดยไม่ลังเล

“วันรุ่งขึ้น ชาวบ้านได้ยืนยันการเดิมพันของพวกเขาและดูพวกเขา ทั้งคู่ประหม่ามากเมื่อโยนลูกเต๋า ในที่สุดดอร์เจก็สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง

“ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ดอร์เจ เซงเกไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากออกจากบ้านเกิดและเผ่าของเขา และออกไปเร่ร่อนข้างนอก โดตอน เซงเก ซึ่งเป็นบิดาของเขาพาเขาไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ ชื่อคยังกัตซา โดตอน เซงเกมีทักษะด้านคาถา และปราบปีศาจและรักษาโรคได้ เขาหาเลี้ยงชีพด้วยทักษะเหล่านี้และมีรายได้ที่มั่นคง ดอร์เจ เซงเกเปลี่ยนแปลงตนเองและหยุดเล่นพนันโดยสิ้นเชิง เขาทำงานอย่างหนักในธุรกิจของเขา โดยขนส่งขนสัตว์ไปทางทิศใต้เพื่อขายในฤดูหนาว และค้าขายปศุสัตว์กับชนเผ่าเร่ร่อนทางตอนเหนือในฤดูร้อน เขาเดินทางไปมาระหว่างสถานที่ต่าง ๆ เพื่อดำเนินธุรกิจขนาดเล็ก การทำงานหนักได้รับผลตอบแทน และเขาก็สะสมความมั่งคั่งใหม่ได้

“ต่อมาดอร์เจ เซงเกแต่งงานกับสาวท้องถิ่นที่สวยงามคนหนึ่ง พวกเขามีลูกชายคนหนึ่งชื่อ มิลา เชอรับ กเยลเซน (พ่อของมิลาเรปะ)

“ในเวลานั้น โดตอน เซงเกชราภาพมากแล้ว เขาล้มป่วยและเสียชีวิต ผลจากการทำงานหนักมาหลายปี ดอร์เจ เซงเกก็ค่อย ๆ มั่งคั่ง เขาใช้เงินก้อนโตเพื่อซื้อทุ่งนารูปสามเหลี่ยมที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งเขาตั้งชื่อว่าสามเหลี่ยมออร์มา เขาได้ซื้อบ้านหลังใหญ่ในบริเวณใกล้เคียงด้วย

“เมื่อเชอรับ กเยลเซน อายุเข้า 20 ปี เขาได้แต่งงานกับนังสตา คาร์เยน (แม่ของมิลาเรปะ) นังสตา การ์เยนมาจากครอบครัวในท้องถิ่นที่ร่ำรวย เธอฉลาดและมีความสามารถ ทุกคนในครอบครัวมีชีวิตที่มีความสุขและมั่งคั่ง

“หลังจากนั้นไม่นาน พวกเขาก็สร้างคฤหาสน์สามชั้นถัดจากสามเหลี่ยมออร์มาโดยมีเสา 4 ต้นและคาน 8 คาน พวกเขาได้สร้างยุ้งขนาดใหญ่และห้องครัวเพิ่มเติมถัดจากคฤหาสน์ด้วย

“ในตอนนั้น ญาติของมิลา โดตอน เซงกี ที่บ้านเกิดได้ยินเกี่ยวกับความมั่งคั่งของดอร์เจ เซงเก ในเมืองคยังกัตซา ลูกพี่ลูกน้องของเซอรับ กเยลเซน ได้แก่ ยูงดรัง กเยลเซน และคยุงตซา พัลเดรนซึ่งเป็นพี่ชายและน้องสาวก็ย้ายมาอยู่ที่คยังกัตซาเช่นกัน เซอรับ กเยลเซน รักญาติของเขาจริง ๆ และพยายามช่วยเหลือพวกเขาอย่างเต็มที่ เขาให้ยืมเงินและสอนวิธีทำธุรกิจให้พวกเขา หลังจากนั้นไม่นานลูกพี่ลูกน้องของเขาก็ร่ำรวยเช่นกัน

“เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว หลายปีต่อมานังสตา คาร์เยนก็ตั้งครรภ์ ในเวลานั้น เซอรับ กเยลเซนได้ซื้อสินค้ามากมายจากทางใต้และไปทางเหนือเพื่อค้าขายกับชนเผ่าเร่ร่อน

“ข้าพเจ้าเกิดในวันที่ 25 สิงหาคม (ค.ศ. 1052) มารดารีบส่งคนไปส่งจดหมายถึงบิดา (เชอรับ กเยลเซน) ในทันที เธอเขียนว่า 'ฉันให้กำเนิดลูกชายแล้ว' โปรดกลับบ้านมาตั้งชื่อให้เขา และเตรียมงานเลี้ยงร่วมกับชาวบ้าน การเก็บเกี่ยวในฤดูใบไม้ร่วงใกล้เข้ามาแล้ว โปรดกลับบ้านโดยเร็วด้วย'

“ผู้ส่งสารส่งจดหมายในเวลาอันสั้น ผู้ส่งสารยังให้คำอธิบายโดยละเอียด เกี่ยวกับทารกแรกเกิดและสถานการณ์ของครอบครัว โดยเร่งให้พ่อกลับบ้านมาตั้งชื่อและเฉลิมฉลองให้กับข้าพเจ้า พ่อรู้สึกยินดีอย่างยิ่ง เขาพูดด้วยรอยยิ้มว่า 'ยอดเยี่ยม ! ยอดเยี่ยม ! ผมมีชื่อให้ทารกแล้ว ครอบครัวมิลาของเราแต่ละรุ่นมีลูกชายเพียงคนเดียวเสมอ ผมดีใจที่สุดที่ได้ยินว่าเรามีลูกชายอีกคน ชื่อของเขาคือโตปากะ (ดีใจที่ได้ยิน) !'

“ดังนั้นพ่อจึงรีบทำธุระให้เสร็จและกลับบ้าน ตั้งชื่อข้าพเจ้าว่าโตปากะ หลังจากข้าพเจ้าโตขึ้น ช้าพเจ้าชอบร้องเพลง ใครได้ยินเสียงของข้าพเจ้าก็จะชอบ พวกเขาพูดว่า 'โตปากะ ดีใจที่ได้ยิน' ชื่อนี้เหมาะกับคุณจริง ๆ !'

“เมื่อข้าพเจ้าอายุได้ 4 ขวบ แม่ให้กำเนิดลูกสาวคนหนึ่งและตั้งชื่อให้เธอว่าเปตา ข้าพเจ้าจำได้ว่าตอนที่เรายังเด็ก ข้าพเจ้ากับน้องสาวมักจะแต่งกายด้วยชุดผ้าซาตินที่ดีที่สุดและมีเครื่องประดับอยู่บนเส้นผมของเราเต็มไปหมด ผู้คนที่มาเยี่ยมเราเป็นคนร่ำรวยและมีอำนาจ เรามีคนรับใช้มากมายด้วย

“ในเวลานั้นคนในเมืองคยังกัตซามักพูดกันว่า “ผู้เร่ร่อนจากแดนไกลตอนนี้ร่ำรวยเหลือเกิน” พวกเขามีปศุสัตว์และทุ่งนาอยู่ข้างนอก และข้างใน พวกเขามีธัญพืชมากเหลือกิน และมีเสื้อผ้ามากเกินกว่าที่จะใส่ พวกเขาโชคดีเหลือเกิน !' พวกเขาชื่นชมเราและอิจฉาเรา แต่ชีวิตที่มีความสุขนี้อยู่ได้ไม่นานก่อนที่พ่อ มิลา เชอรับ กเยลเซนจะเสียชีวิต”

เรชุงปะถามว่า “ท่านอาจารย์ หลังจากบิดาของท่านเสียชีวิตแล้ว ท่านมีความทุกข์ยากมากหรือ เราได้ยินมาว่าประสบการณ์ของท่านทุกข์ยากที่สุด ท่านช่วยบอกเราเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ไหม”

(ยังมีต่อ)