(Minghui.org) (ต่อจาก ตอนที่ 1)
ตำราธรรมเนียมปฏิบัติสรุปส่วนสำคัญของความคาดหวังในความสัมพันธ์ของมนุษย์ไว้เช่นนี้ : พ่อแม่ควรปฏิบัติต่อลูกด้วยความเมตตา ในขณะที่ลูกควรแสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่ พี่ควรโอบอ้อมอารีกับน้อง ในขณะที่น้องควรนอบน้อมต่อพี่ สามีควรให้เกียรติภรรยา ในขณะที่ภรรยาควรเป็นคนหัวอ่อนกับสามี ผู้ที่สูงวัยกว่าควรปกป้องและใส่ใจผู้ที่อ่อนวัยกว่า ในขณะที่ผู้ที่อ่อนวัยกว่าควรเคารพและทำตามความประสงค์ของผู้ที่สูงวัยกว่า
ต่อไปนี้คือตัวอย่างของความสัมพันธ์ตามจารีตประเพณีเหล่านี้
บุตรที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นลูกกตัญญู
ในช่วงปลายของราชวงศ์ซาง จักรพรรดิโจวไท่มีบุตรชายสามคน—บุตรชายคนโตชื่อไท่โป๋ บุตรชายคนที่สองชื่อจ้งยง และบุตรชายคนที่สามชื่อจี้ลี่ จี้ลี่มีบุตรชายชื่อจี้ชาง ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นจักรพรรดิโจวเหวิน
เมื่อจี้ชางเกิด นกกระจอกแดงหยุดอยู่ที่ประตูหน้าและมีตัวอักษรสีแดงอยู่ในปากของมัน เมื่อจักรพรรดิไท่เห็นสัญลักษณ์ที่เป็นมงคลนี้ เขาจึงวางแผนที่จะส่งต่อบัลลังก์ไปให้จี้ลี่ซึ่งจะเป็นคนที่สามารถส่งบัลลังก์ต่อไปยังจี้ชางได้ นี่ไม่ใช่เรื่องปกติในยุคโบราณเนื่องจากบัลลังก์มักจะสืบทอดต่อไปยังบุตรชายคนโตสุด
ไท่โป๋ทราบแผนการของบิดา เขาจึงพาน้องชายจ้งยงหนีไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจของบิดา เขายังตัดผมและทำรอยสักเพื่อเป็นเครื่องหมายของการตัดสินใจของเขาว่าจะอยู่ห่างจากความซิวิไลซ์ด้วย ด้วยวิธีนี้จักรพรรดิไท่จึงส่งมอบบัลลังก์ให้จี้ลี่ และต่อมาก็ตกทอดสู่จี้ชางโดยไม่มีการขัดขวางใด ๆ
ไม่นานหลังจากนั้นไท่โป๋ก็ตั้งชื่อภูมิภาคที่เขาหลบหนีไปอาศัยอยู่ว่าแคว้นหวูซึ่งก็คือมณฑลเจียงซูในปัจจุบัน ประชาชนในท้องถิ่นประมาณ 1,000 ครอบครัว เลือกเขาให้เป็นกษัตริย์ของภูมิภาคนั้น
แปดชั่วอายุคนต่อมา บัลลังก์ของหวูถูกส่งต่อไปยังโซ่วเมิ่งซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ที่ 19 ของราชวงศ์หวู โซ่วเมิ่งวางแผนที่จะส่งต่อบัลลังก์ให้กับจี้ฉาซึ่งเป็นบุตรคนที่สี่เนื่องจากจี้ฉามีชื่อเสียงที่ดีงาม แต่จี้ฉาปฏิเสธบัลลังก์เพราะการทำเช่นนี้จะละเมิดกฎข้อบังคับที่เหมาะสมของสังคม โซ่วเมิ่งถามจี้ฉาสามครั้ง แต่ถูกปฏิเสธทุกครั้ง ประชาชนที่แคว้นหวูก็ต้องการให้จี้ฉาเป็นกษัตริย์เช่นกัน ในที่สุดจี้ฉาก็จากไปประกอบอาชีพเป็นชาวนา
ขงจื๊อพูดถึงไท่โป๋ในทางที่ดีมาก โดยสรรเสริญอุปนิสัยและความอ่อนน้อมถ่อมตนของเขา
ความใจดีของพี่ชายสูงวัย
ตามที่กล่าวไว้ในเจียฟ่าน (คำแนะนำของครอบครัว) ที่เขียนโดยซือหม่า กวง นักปราชญ์สมัยโบราณชื่อซุ่นปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างดีเสมอแม้คนอื่นจะปฏิบัติกับเขาอย่างไม่เป็นมิตรก็ตาม
พ่อของซุ่น แม่เลี้ยง และน้องชายชื่อเซี่ยง มักรังแกซุ่น หลังจากที่กษัตริย์เหยาแต่งตั้งให้ซุ่นเป็นผู้สืบตำแหน่ง ความอิจฉาริษยาของพวกเขาก็ทวีความรุนแรงขึ้น พวกเขาจึงวางแผนสังหารซุ่นและยึดทรัพย์สินของเขา
ครั้งหนึ่งพวกเขาขอให้ซุ่นซ่อมยุ้งข้าว หลังจากที่ซุ่นปีนขึ้นไปบนหลังคาแล้ว พวกเขาก็เอาบันไดออกไปและจุดไฟเผายุ้งข้าว โชคดีที่ซุ่นหลบหนีออกมาได้อย่างปลอดภัย
อีกครั้งหนึ่งพวกเขาขอให้ซุ่นขุดบ่อน้ำ ขณะที่ซุ่นอยู่ในบ่อน้ำ ครอบครัวของเขาก็เริ่มฝังซุ่น หลังจากที่บ่อน้ำถูกกลบด้วยดินจนมิดแล้ว เซี่ยงก็วางแผนมอบปศุสัตว์และธัญพืชของซุ่นให้กับพ่อแม่ของเขา และเก็บทรัพย์สินที่เหลือของซุ่นไว้เอง และเขายังต้องการภรรยาของซุ่นด้วย
ซุ่นหลบหนีออกมาทางอุโมงค์ด้านข้างของบ่อน้ำได้อย่างปาฏิหาริย์ เมื่อเขากลับถึงบ้าน เซี่ยงตกใจมาก แต่เขาตีสีหน้าเฉยเมยและพูดว่า “ผมคิดถึงพี่มาก !”
ซุ่นให้อภัยเขาและขอให้เขาช่วยบริหารประเทศ
เรื่องราวเล่าขานของซุ่นเป็นที่เคารพนับถือมาตลอดประวัติศาสตร์จีน แม้ว่าเขาจะอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตร เขายังสามารถปฏิบัติต่อทุกคนด้วยความนับถือและใจดี ซางซู (Book of Documents) ระบุว่า “ซุ่นขึ้นสู่ที่สูงมากได้โดยไม่ต้องปีน และ [ชื่อเสียงของเขา] ขจรไปไกลโดยที่เขาไม่ต้องเดินทาง”
เนื่องจากคุณธรรมของเขา ผู้คนจึงเสาะหาเขาโดยธรรมชาติ ไม่ว่าซุ่นจะไปที่ไหน ตำนานเล่าขานว่าสถานที่นี้จะกลายเป็นหมู่บ้านภายใน 1 ปี กลายเป็นเมืองเล็กภายใน 2 ปี และกลายเป็นเมืองใหญ่ภายใน 3 ปี
น้องชายผู้อ่อนน้อม
ในราชวงศ์จิ้นมีพี่น้องคู่หนึ่งคือหวางเสียงและหวางหลั่น แม่ของหลั่นเป็นแม่เลี้ยงของเสียง เป็นผลให้เธอชอบหลั่นมากกว่าเสียง
เมื่อหลั่นอายุได้หลายปี เขามักจะเห็นแม่ของเขา (จู) เฆี่ยนเสียงพี่ชายต่างมารดาด้วยกิ่งไม้อยู่บ่อย ๆ ทุกครั้งที่เกิดขึ้น หลั่นจะเข้าไปกอดเสียงเพื่อปกป้องเขาไม่ให้ถูกจูตี
เมื่อสองพี่น้องโตขึ้น หลั่นมักขอให้แม่ของเขาเลิกทุบตีเสียงซึ่งก็ดีขึ้นเล็กน้อย ต่อมาสองพี่น้องแต่งงาน จูจะเรียกร้องให้เสียงและภรรยาของเขาทำสิ่งต่าง ๆ ให้เธออยู่เสมอ หลั่นจะช่วยทั้งคู่ทุกครั้งที่เขาช่วยได้
หลังจากพ่อของสองพี่น้องเสียชีวิต เสียงกลายเป็นที่รู้จักในด้านคุณธรรมและอุปนิสัยที่ดีของเขา จูอิจฉาและวางแผนที่จะฆ่าลูกเลี้ยงของเธอด้วยเหล้าพิษ
หลั่นรู้แผนการนี้เข้าและยื่นมือไปหยิบเหล้าถ้วยนั้น เสียงก็ตระหนักว่ามีบางอย่างผิดปกติ และไม่ต้องการให้น้องชายของเขาตาย เมื่อแม่เห็นพี่น้องทะเลาะกันเพื่อแย่งเหล้าพิษ เธอจึงกลัวว่าหลั่นอาจจะดื่มมัน เธอจึงโยนเหล้าถ้วยนั้นทิ้งไป
ต่อมาทุกครั้งที่จูจะเสิร์ฟอาหารให้เสียง หลั่นจะชิมก่อนเสมอ แม่จึงหยุดความพยายามที่จะทำร้ายเสียง
นายพลหลู่ เฉียน ชื่นชมอุปนิสัยของเสียงและมอบดาบให้เขาหนึ่งเล่ม พร้อมกับบอกว่าเฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับสูงเท่านั้นที่จะได้รับอนุญาตให้ใช้ดาบดังกล่าว เมื่อเสียงเสียชีวิต เขายกดาบเล่มนั้นเป็นมรดกให้หลั่นโดยหวังให้หลั่นและลูกหลานโชคดี
แน่นอนว่าทายาทของหลั่นหลายคนได้ขึ้นเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูง เหลนชายของเขา หวัง สี่จือ กลายเป็นหนึ่งในนักคัดลายมือที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์จีน
(ยังมีต่อ)
บทความ กราฟิก และเนื้อหาทั้งหมดที่เผยแพร่บน Minghui.org มีลิขสิทธิ์ อนุญาตให้ทำสำเนาที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ได้ แต่ต้องระบุแหล่งที่มาพร้อมชื่อบทความและลิงก์ไปยังบทความต้นฉบับ
ข้อคิดเห็นในบทความนี้เป็นความคิดเห็นหรือความเข้าใจของผู้เขียนเอง เนื้อหาทั้งหมดที่เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้เป็นลิขสิทธิ์ของ Minghui.org หมิงฮุ่ยจะผลิตฉบับรวมเล่มของเนื้อหาออนไลน์เป็นประจำรวมทั้งในโอกาสพิเศษด้วย
หมวดหมู่: วัฒนธรรมดั้งเดิม