(Minghui.org) เร็ว ๆ นี้ผู้ฝึกในท้องถิ่นบางคนประสบปัญหาในการบำเพ็ญ แทนที่พวกเขาจะสนใจ ศึกษาฝ่าและค้นหาจากภายใน พวกเขากลับหาคำตอบจากผู้ฝึกที่พวกเขารู้สึกนึกคิดว่าฝึกได้ดี แต่ผลลัพธ์ส่วนใหญ่กลับไม่ดี

ฉันขอแลกเปลี่ยนความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้จากประสบการณ์ของฉันในช่วงหลายปีนี้

ศึกษาฝ่าโดยไม่เก็บเข้าไปในใจ

ผู้ฝึกบางคนศึกษาฝ่าแค่พอเป็นพิธี พวกเขาไม่ค่อยเปรียบเทียบสิ่งที่ท่านอาจารย์พูดในคำสอนกับการบำเพ็ญของตนเองเพื่อค้นหาและขจัดความยึดติดของตนอย่างทันท่วงที และเพื่อคงความขยันหมั่นเพียรไว้

เมื่อประสบกับปัญหาซินซิ่งที่เด่นชัด พวกเขามักหลีกเลี่ยงที่จะคิดเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้ ยิ่งกว่านั้น ผู้ฝึกบางคนเน้นปริมาณในการศึกษาฝ่าเป็นเป้าหมาย บางคนอ่านจ้วนฝ่าหลุนจบภายในหนึ่งวันหรือหนึ่งคืน และคนอื่นก็ชื่นชมพวกเขาที่ทำเช่นนั้นได้ ฉันจำได้ว่าท่านอาจารย์พูดเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อท่านตอบคำถามของศิษย์ :

“ศิษย์ : บางคนพูดว่า ท่านบอกว่าอ่าน “จ้วนฝ่าหลุน” จบในวันครึ่งนั้นช้าเกินไปแล้ว

อาจารย์ : ข้าพเจ้าไม่ได้พูดเช่นนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเร็วเกินไปแล้ว (เสียงปรบมือ) ข้าพเจ้าบอกให้ทุกท่านอ่านหนังสือแข่งกับเวลา เช่นนั้นเขาก็วิ่งไปสุดขั้วนั้นแล้วในทันที อ่าน อ่าน อ่าน อ่าน เอาแต่อ่าน แต่ละคำอ่านว่าอะไรเขาก็ไม่รู้แล้ว เช่นนั้นท่านอ่านอะไรกันละ ท่านมิได้กำลังศึกษาฝ่าหรือ ศึกษาฝ่า คำว่าศึกษานั้นท่านเอาไว้ที่ไหนแล้ว สิ่งที่ท่านอ่านคืออะไรก็ไม่รู้ เช่นนั้นท่านจะบำเพ็ญได้อย่างไรละ ท่านต้องทราบว่าสิ่งที่เห็นอยู่ในสายตาท่านนั้นคืออะไร ที่ท่านอ่านคือตัวอักษรอะไร ความหมายชั้นผิวคืออะไรนั้นท่านต้องทราบ เช่นนั้นอะไรที่เรียกว่าศึกษาฝ่าละ เช่นนั้นยังจะอ่านไปทำไมกัน หยิบหนังสือมาเปิดพลิกอย่างนี้ ก็จบแล้วหรืออย่างไร คือเหตุผลนี้ใช่หรือไม่” (“การบรรยายฝ่าที่ฝ่าฮุ่ยสิงคโปร์” 22-23 สิงหาคม 1998)

ถ้าคุณบอกว่าคุณเป็นศิษย์ของท่านอาจารย์ ทำไมคุณไม่ทำตามที่ท่านบอก หรือคุณตั้งใจอ่านหนังสือเพิ่มอีกไม่กี่ครั้งด้วยความยึดติดที่จะให้ฝ่าเซินของท่านอาจารย์ขจัดสิ่งเลวร้ายบางอย่างให้คุณ ถ้าเป็นเช่นนั้น คุณควรอ่านฝ่าอย่างจริงจังและบำเพ็ญอย่างแข็งขัน

ท่านอาจารย์กล่าวว่า :

“ต้าฝ่าคือการบำเพ็ญ นอกเหนือจากการบำเพ็ญแล้วไม่มีอะไรอีก” (“บรรยายธรรม ณ ที่ประชุมผู้ฝึกภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก” รวมการบรรยายธรรมในพื้นที่ต่าง ๆ 6)

การทำสิ่งที่น่าประทับใจไม่ใช่สิ่งเดียวกับการเป็นศิษย์ต้าฝ่า

ผู้ฝึกบางคนได้ทำสิ่งที่ดีมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่บ่อยครั้งที่พวกเขาไม่สนใจหรือดูเหมือนไม่สนใจการบำเพ็ญส่วนบุคคลของตัวเอง บางคนเห็นการผลิตหรือแจกเอกสารอธิบายความจริงของต้าฝ่าจำนวนมากเป็นการทำได้ดีในการบำเพ็ญ พวกเขามักคิดว่าตัวเองดีกว่าคนอื่น

บางคนอุทิศตนในทันทีเพื่อทำสิ่งต่าง ๆ ทันทีที่พวกเขาได้รับการปล่อยตัวจากค่ายบังคับใช้แรงงานหรือคาบเรียนล้างสมอง และผู้ฝึกเหล่านั้นซึ่งโดยทั่วไปมีความเข้าใจเหมือนกัน มักสร้างกลุ่มผู้ฝึกของตนเองขึ้นมา พวกเขาถือว่าการทำสิ่งต่าง ๆ เป็นการบำเพ็ญ พวกเขามักขยับเขยื้อนไม่ได้เพราะความทะนงตัวของตนเอง ละเลยความสำคัญของการบำเพ็ญอย่างแข็งขัน และเห็นคุณค่าของการค้นหาจากภายในน้อยลงเมื่อเกิดปัญหาขึ้น เมื่อผู้ฝึกดังกล่าวประสบกับบางสิ่งที่แตะถูกจิตยึดติดบางอย่าง เขามักจะอารมณ์เสีย และหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงมัน

ท่านอาจารย์บอกเราซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าให้เราบำเพ็ญตนเองและค้นหาจากภายในในทุกสถานการณ์เพื่อทำงานอันศักดิ์สิทธิ์ในการช่วยท่านอาจารย์ในการเจิ้งฝ่า ดังนั้นเราต้องบำเพ็ญตนเองให้ดีก่อนจึงจะสามารถทำให้คำปฏิญาณก่อนประวัติศาสตร์บรรลุผลได้

เราจะพบคำตอบได้ด้วยการบำเพ็ญที่แข็งขันเท่านั้น

เมื่อผู้ฝึกบางคนมีปัญหา สิ่งแรกที่พวกเขาคิดคือขอให้ผู้ฝึกอื่นช่วยพวกเขาหาทางแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อเพื่อนผู้ฝึกชี้ให้เห็นความยึดติดของพวกเขาด้วยจิตใจที่ดี พวกเขามักหาข้ออ้างเพื่อหลีกเลี่ยงที่จะจัดการกับปัญหา ที่จริงพวกเขาไม่ต้องการทนทุกข์จากความเจ็บปวดที่จะขจัดจิตยึดติด พวกเขาเพียงต้องการหาทางลัดในการแก้ปัญหาเท่านั้น

ในการบำเพ็ญ ไม่มีอะไรเข้าแทนที่การบำเพ็ญตนเองได้ แม้แต่ท่านอาจารย์ก็จะไม่บอกคำตอบของปัญหาให้กับคุณโดยตรง มีเพียงการบำเพ็ญอย่างแข็งขันและขจัดจิตยึดติดเหล่านั้นทีละน้อยเท่านั้นที่เราจะสามารถค้นพบเหตุผลของปัญหาได้ ในขณะเดียวกัน เราควรพยายามให้มากขึ้นในการยกระดับซินซิ่งและจริงจังกับทุกสิ่งที่เราประสบ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก

ท่านอาจารย์กล่าวว่า :

“ที่จริงการจัดการกับปัญหาหนึ่ง ๆ ให้สำเร็จได้ ต้องค้นหาจากซินซิ่ง ปัญหาอะไรล้วนสามารถแก้ไขให้ลุล่วงได้” (“การบรรยายฝ่าให้กับผู้ช่วยฝึกสอนฝ่าหลุนต้าฝ่าเมืองฉางชุน” ฝ่าหลุนต้าฝ่าอี้เจี่ย)

เราควรเคารพคำบอกใบ้ของท่านอาจารย์

เมื่อมีปัญหาหรือไม่สบายใจในการบำเพ็ญ ท่านอาจารย์มักปกป้องศิษย์ทุกวิถีทางด้วยคำบอกใบ้ คำบอกใบ้อาจเกิดขึ้นก่อนหรือหลังปัญหาก็ได้ และอาจมาในรูปแบบใดก็ได้ ถึงกระนั้นผู้ฝึกบางคนก็ยังไม่ให้ความสนใจกับการบำเพ็ญประจำวัน พวกเขาเคยชินกับการมองปัญหาที่พื้นผิว หรือพวกเขาเพียงแค่มองหาคำตอบ แม้ว่าพวกเขาจะรู้ว่ามันเป็นคำบอกใบ้จากท่านอาจารย์ พวกเขาจะคิดถึงมันแค่ชั่วครู่แล้วก็ลืมไป พวกเขาไม่เชื่อมโยงคำบอกใบ้กับการบำเพ็ญของตัวเองเพื่อค้นหาปัญหาในการบำเพ็ญของพวกเขา แก้ไขมันให้ถูกต้อง และยกระดับ ที่จริงนี่เป็นการไม่เคารพต่อท่านอาจารย์ ท่านอาจารย์ปฏิบัติกับเราด้วยความใส่ใจมากกว่าที่เราปฏิบัติกับตัวเอง ทำไมเราไม่ถือว่าคำบอกใบ้ของท่านอาจารย์เป็นการให้กำลังใจ และถือมันเป็นอีกวิธีหนึ่งในการค้นหาและแก้ไขวิธีคิดที่เป็นปัญหาของเราให้ถูกต้อง

คำบอกใบ้ของท่านอาจารย์ไม่ใช่เป็นแค่คำบอกใบ้เท่านั้น แต่ยังมีความสัมพันธ์ทางด้านพระคุณระหว่างท่านอาจารย์กับศิษย์อยู่ในนั้นด้วย และสะท้อนความหมายของความขยันหมั่นเพียรด้วย เราจะเพิกเฉยต่อความเมตตาและการให้กำลังใจของท่านอาจารย์และปล่อยให้มันหลุดมือไปได้อย่างไร ขอให้ขยันหมั่นเพียร มีเพียงเมื่อคุณขยันหมั่นเพียรเท่านั้น คุณจึงจะเข้าใจได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น มิฉะนั้นมันจะแค่อยู่ที่พื้นผิวของด้านที่เป็นมนุษย์เพื่อแสดงความกตัญญูต่อท่านอาจารย์เท่านั้น นี่ต่ำกว่าสิ่งที่คาดหวังจากผู้ฝึกมากมายนัก

ฉันเขียนบทความแลกเปลี่ยนประสบการณ์นี้เพื่อบอกคนรอบข้างและผู้ฝึกอื่นว่าเราควรถือฝ่าเป็นอาจารย์อยู่เสมอ ค้นหาจากภายในเมื่อประสบกับปัญหา ศึกษาฝ่าอย่างจริงจัง และบำเพ็ญ สำหรับเรื่องที่เราเป็นศิษย์ต้าฝ่าที่แท้จริงหรือไม่ สิ่งที่เราพูดไม่สำคัญ ถ้าเราบอกว่าเราเป็นศิษย์ที่แท้จริงของท่านอาจารย์ เราก็ควรปฏิบัติตามสิ่งที่ท่านอาจารย์พูดและบำเพ็ญในช่วงเจิ้งฝ่าโดยไม่มีข้อยกเว้นหรือประนีประนอม

สุดท้ายนี้ ขอให้ทุกคนจำสิ่งที่ท่านอาจารย์กล่าว :

“จิตใจอะไรก็ตามปล่อยวางลงเสีย อะไรก็ไม่คิด ทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ศิษย์ต้าฝ่าสมควรทำ ทุกสิ่งทุกอย่างก็อยู่ในนั้นแล้ว” (“บรรยายธรรม ณ ฝ่าฮุ่ยระหว่างประเทศ กรุงวอชิงตัน ดี ซี” นำร่อง)

บทความ กราฟิก และเนื้อหาทั้งหมดที่เผยแพร่บน Minghui.org มีลิขสิทธิ์ อนุญาตให้ทำสำเนาที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ได้ แต่ต้องระบุแหล่งที่มาพร้อมชื่อบทความและลิงก์ไปยังบทความต้นฉบับ