(Minghui.org)

(ต่อจากตอนที่ 1)

ซุน ซือเม่า เป็นหนึ่งในแพทย์ที่ดีที่สุดของจีน เขามีชีวิตอยู่ตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 ถึงศตวรรษที่ 7 ในสมัยราชวงศ์ถัง และได้รับสมญานามว่า “ราชาแห่งการแพทย์” เนื่องจากเขาได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านการแพทย์มากมาย

หนึ่งในผลงานชิ้นสำคัญของเขาคือ เชียนจิน เย่าฟาง ซึ่งแปลคร่าว ๆ ว่า “สูตรสำคัญ [มีค่าเท่า] ทองคำพันชิ้น”

ในหนังสือเล่มนี้ ซุนกล่าวว่า "ถ้าผู้ใดไร้ศีลธรรม แม้แต่ยาครอบจักรวาลก็รักษาโรคของเขาไม่ได้"

หนังสือเล่มนี้ยังมีความคิดเห็นว่า “ถ้าผู้ใดมีคุณธรรมอยู่เนืองนิตย์ ผู้นั้นจะได้รับพรโดยไม่ต้องอธิษฐาน และจะมีอายุยืนยาวโดยไม่ต้องสักการบูชา”

แล้วคนโบราณบำเพ็ญคุณธรรมอย่างไร

การหลีกเลี่ยงการขึ้นสู่ระดับสูงสุดและความคิดเกี่ยวกับอารมณ์ที่รุนแรง

ประวัติศาสตร์จีนเต็มไปด้วยเรื่องราวที่สอนผู้คนว่าชื่อเสียงและความมั่งคั่งเป็นเพียงสิ่งชั่วคราว ซึ่งแยกออกจากการดำรงอยู่ของบุคคล ดังนั้นเราจึงไม่ควรผูกอารมณ์ไว้กับการได้หรือการเสียชั่วขณะ เพราะว่าในระยะยาวแล้วสิ่งเหล่านี้แทบจะไม่ต่างจากก้อนเมฆที่หายวับไป

อย่างไรก็ตาม บางคนยังคงแสวงหาชื่อเสียงและความมั่งคั่งเพื่อสนองความต้องการของตนเอง ในบางกรณี ถึงขั้นสูญเสียสติสัมปชัญญะ เรื่องราวดังกล่าวเรื่องหนึ่งอธิบายอยู่ใน Rulin Waishi หรือ Unofficial History of the Scholars (ประวัติที่ไม่เป็นทางการของปราชญ์) ซึ่งเป็นนวนิยายที่เขียนโดย หวู จิ้งจื่อ ปราชญ์แห่งราชวงศ์ชิง

ในเรื่อง “ฟ่าน จิ้น จงฉู่” เล่าถึงชายคนหนึ่งที่สอบจอหงวนระดับจังหวัดไม่ผ่านจนถึงวัย 50 ปีเศษ เมื่อทราบข่าวเขารับไม่ไหวจนเสียสติไป สุดท้ายพ่อตาของเขาซึ่งเป็นคนขายเนื้อต้องตบหน้าเขาอย่างแรงเพื่อให้เขาฟื้นคืนสติกลับมา

เฉกเช่นความสุขสุดขีดที่ก่อให้เกิดความทุกข์โศก การแข่งขันและความอิจฉาริษยาที่มากเกินไปก็ส่งผลร้ายต่อสุขภาพได้เช่นกัน หวัง ซีจือ (303-361) เป็นหนึ่งในนักคัดลายมือตัวอักษรจีนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์จีน เขายังเป็นนักการเมือง นายพล และนักเขียนในสมัยราชวงศ์จิ้น เขาเสียชีวิตตอนอายุ 59 ปี หลายคนรู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของเขา บางคนเชื่อว่าความขุ่นเคืองใจอย่างหนักและความอิจฉาจากการแข่งขันกับ หวัง ซู่ ซึ่งเป็นเพื่อนขุนนางมีผลต่อการเสียชีวิตก่อนเวลาของเขา

มีโคลงกลอนบทหนึ่งใน โยว ชวง เสี่ยว จี้ ที่รวบรวมโดย เชิน ฉือรู่ ในราชวงศ์หมิง เขียนว่า “ความชอบและความอัปยศอดสูไม่ทำให้หวั่นไหว ฉันดูดอกไม้บานและร่วงหล่นในสนามสบาย ๆ โดยไม่ยึดติดกับการไปหรืออยู่ ฉันล่องลอยอย่างอิสระประดุจเมฆบนท้องฟ้า”

โคลงนี้กลายเป็นที่นิยมอย่างมากสำหรับทัศนคติที่ให้ปล่อยวางต่อการเสียและการได้ ชื่อเสียงและยศถาบรรดาศักดิ์

“คุณเป็นเจ้าหน้าที่ที่หาได้ยากจริง ๆ”

ในยุคของจักรพรรดิไท่จงแห่งราชวงศ์ถัง หลู เฉิงชิ่ง ได้รับแต่งตั้งจากจักรพรรดิให้เป็น "ผู้ตรวจสอบความสามารถ" เพราะว่าเขามีความซื่อตรงและยุติธรรม ครั้งหนึ่งขณะที่หลูกำลังประเมินเจ้าหน้าที่ เรือที่บรรทุกเมล็ดพืชจมลงในแม่น้ำ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานละเลยหน้าที่ หลูจึงเขียนความคิดเห็นต่อเจ้าหน้าที่คนนี้ว่า “ทำเรือบรรทุกเมล็ดพืชสูญหาย ได้คะแนนต่ำในการประเมิน”

เขาประหลาดใจมากที่เจ้าหน้าที่คนนี้ไม่แก้ตัวโดยใช้ข้ออ้างใด ๆ เลย และไม่ได้แสดงออกว่าทุกข์ใจด้วย เขาเพียงยอมรับความคิดเห็นด้านลบของหลูอย่างสงบ

ต่อมาหลูคิดว่าการที่เรือบรรทุกเมล็ดพืชจมน้ำไม่ใช่ความผิดของเจ้าหน้าที่คนนี้ทั้งหมด และสถานการณ์อยู่เหนือการควบคุมของเขา หลูจึงเลื่อนการประเมินของเขาขึ้นเป็นระดับ "กลางช่วงล่าง" ถึงกระนั้นเจ้าหน้าที่คนนี้ก็ยังคงไม่พูดอะไร—ไม่ได้พูดแม้แต่คำขอบคุณ เขาแค่ทำสิ่งที่ทำอยู่ต่อไปด้วยรอยยิ้ม

หลูชื่นชมจิตใจที่สงบของเจ้าหน้าที่คนนี้ในการจัดการกับสถานการณ์ และชมเชยเขาว่า “ความชอบและความอัปยศอดสูไม่ทำให้หวั่นไหวได้เลย คุณเป็นเจ้าหน้าที่ที่หาได้ยากจริง ๆ” จากนั้นหลูก็เปลี่ยนความเห็นเป็นครั้งสุดท้ายและเขียนว่า “ความชอบและความอัปยศอดสูไม่ทำให้หวั่นไหว ผลการประเมินได้ระดับกลางช่วงบน”

การคำนึงถึงผู้อื่นมากกว่าตัวเอง

ฟ่าน จ้งยาน เป็นอัครมหาเสนาบดีคนสำคัญในสมัยซ่งเหนือ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการบริหารงานของรัฐบาลและขัดขวางการทุจริต เขาและขุนนางส่วนหนึ่งได้โน้มน้าวจักรพรรดิเหรินจงให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่าการปฏิรูปชิ่งลี่ อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปของพวกเขาเผชิญกับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากขุนนางบางคนที่กังวลว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานและผลประโยชน์ของพวกเขา ผลก็คือการปฏิรูปถูกระงับ และฟ่านถูกลดตำแหน่งและถูกเนรเทศไปเติ้งโจว

แม้เขาจะประสบกับเคราะห์กรรม แต่ฟ่านก็ยังคงสงบและคิดบวกเช่นเดิม เขาผ่อนคลายและมีความสุข ไม่หวั่นไหวต่อเกียรติยศที่เขาเคยมีในราชสำนัก ไม่หวั่นไหวต่อความอับอายที่เขาประสบเมื่อถูกเนรเทศ เขา “ดื่มอย่างรื่นเรงในสายลมโชยพัดเฉื่อย ๆ และรู้สึกเบิกบานใจ” “ไม่ยินดีกับการได้จากภายนอก ไม่เศร้าเสียใจจากความทุกข์ส่วนตัว”

ฟ่านอธิบายความคิดของเขาไว้ในบทความชื่อดัง “Yueyang Lou Ji”—หรือการบูรณะอาคารเยวี่ยหยาง—“เป็นคนแรกที่แบกรับความยากลำบากของประเทศ เป็นคนสุดท้ายที่ได้เพลิดเพลินกับความสุขและความสบาย” ความคิดนี้ทำให้เขาจิตใจสงบขณะประสบกับความพ่ายแพ้

(มีต่อ)

บทความ กราฟิก และเนื้อหาทั้งหมดที่เผยแพร่บน Minghui.org มีลิขสิทธิ์ อนุญาตให้ทำสำเนาที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ได้ แต่ต้องระบุแหล่งที่มาพร้อมชื่อบทความและลิงก์ไปยังบทความต้นฉบับ