(Minghui.org) ในฤดูใบไม้ผลิปี 2024 มีการประท้วงสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ปะทุขึ้นทั่ววิทยาเขตของมหาวิทยาลัยในอเมริกา การประท้วงเหล่านี้สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายอย่างมาก ผู้ประท้วงยึดอาคาร ขัดขวางการเรียนการสอน สร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐาน และคุกคามนักศึกษาชาวยิว

หลังจากกรมตํารวจนิวยอร์กรื้อสิ่งกีดขวางของกลุ่มสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ที่ Hamilton Hall ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กรมตํารวจนิวยอร์กพบว่าผู้ประท้วงมีอุปกรณ์ครบครันอย่างน่าประหลาดใจ มีทั้งโซ่เกรดอุตสาหกรรม หน้ากากป้องกันแก๊สพิษ ที่อุดหู แว่นตานิรภัย ค้อน มีด และเชือก พวกเขายังพบว่า 25% ของผู้ที่ถูกจับกุมไม่ใช่นักศึกษา ที่ City University of New York 60% ของผู้ประท้วงที่ถูกจับกุมไม่ใช่นักศึกษา

แนวร่วมของกลุ่มนักเคลื่อนไหวหลายกลุ่มอ้างความรับผิดชอบต่อการประท้วงเหล่านี้ รวมถึงกลุ่ม Shut It Down for Palestine (SID4P, 为 巴勒斯坦关闭一切) ซึ่งเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนของพวกเขา "ระดมพลในท้องอสูร (mobilize in the belly of the beast)" เพื่อ "ต่อสู้กับการสนับสนุนทางวัตถุแก่ลัทธิไซออนิสต์ (Zionism) และทําให้ผู้รับใช้ของจักรวรรดินิยมสหรัฐฯ อ่อนแอลง"

อย่างไรก็ตาม การสืบสวนเพิ่มเติมเผยให้เห็นว่ากลุ่มที่ดูเหมือนเป็นพวกรากหญ้าเหล่านี้ได้รับทุนสนับสนุนจากแหล่งเดียวกัน นั่นคือ Neville Roy Singham ซึ่งเป็นมหาเศรษฐีด้านเทคโนโลยีชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีประวัติในการร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาอย่างยาวนาน

ตั้งแต่ปี 2001 ถึงปี 2008 Singham ทําหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับหัวเว่ย ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคมที่ถูกขึ้นบัญชีดําทั่วโลกเนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับความเชื่อมโยงกับการจารกรรมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในปี 2019 เขาเริ่มดำเนินธุรกิจที่ปรึกษาร่วมกับหุ้นส่วนชาวจีนที่มีบทบาทเกี่ยวกับเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในเดือนกรกฎาคม 2023 มีคนเห็น Singham ในการประชุมด้านการสื่อสารเชิงกลยุทธที่เซี่ยงไฮ้ซึ่งจัดโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน ต่อมาในปีนั้น คณะกรรมการบังคับใช้กฎหมายของอินเดีย (India’s Enforcement Directorate) ได้เรียกตัวเขาไปสอบปากคําเกี่ยวกับ NewsClick ซึ่งเป็นสื่อในอินเดียที่เขาเป็นเจ้าของ ที่เคยถูกบุกค้นในปี 2021 เนื่องจากต้องสงสัยว่ามีการเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วยเงินทุนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

กลุ่มองค์กรที่ Singham ให้เงินทุนสนับสนุนที่เรียกว่า "เครือข่าย Singham" ถูกพบว่า "ส่งเงินทุนโดยไม่เปิดเผยและเผยแพร่เป้าหมายแอบแฝงและเรื่องเล่าที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนสนับสนุนเข้าไปในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2017 เป็นอย่างน้อย" ตามรายงานของ Network Contagion Research Institute

"เครือข่ายนี้มีบทบาทสําคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการผลักดันการเคลื่อนไหวที่สนับสนุนชาวปาเลสไตน์ที่รุนแรงมากขึ้น" สถาบันดังกล่าวสรุปเพิ่มเติม โดยชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงทางการเงินอย่างแน่นแฟ้นระหว่าง Singham กับกลุ่มที่ประกอบกันเป็น SID4P อย่างน้อย 3 กลุ่มจาก 7 กลุ่ม ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของยุทธวิธีสงครามไร้ข้อจํากัด พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้แทรกซึมเข้าไปในสังคมอเมริกันด้านต่าง ๆ มานานแล้ว เพื่อพยายามขยายอิทธิพลและทำลายวิถีชีวิตของชาวอเมริกัน โดยดำเนินกลยุทธ์แบบปกปิดภายใต้องค์กรและบุคคลที่ดูเหมือนไม่มีพิษภัยจำนวนมาก ซึ่งแฝงตัวอยู่ในโครงสร้างของสังคมตะวันตก กลยุทธ์นี้ไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายอย่างมากต่อสังคมเหล่านี้ แต่ยังทําให้ผู้คนจํานวนมากกลายเป็นเครื่องมือของพรรคคอมมิวนิสต์จีนโดยไม่รู้ตัว

ศูนย์กลางของการแทรกซึม : กรมงานแนวร่วม

ตั้งแต่ทศวรรษ 1930 พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีหน่วยงานที่มีหน้าที่เฉพาะในการส่งเสริมอิทธิพลของตนนอกเขตอํานาจของตนเอง เมื่อวันที่ 5 มกราคม 1939 สํานักเลขาธิการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้จัดตั้งกรมงานแนวร่วม (United Front Work Department (UFWD), 中共統戰部) อย่างเป็นทางการในฐานะหน่วยงานหนึ่งภายในพรรค หน่วยงานนี้มีหน้าที่รับผิดชอบในการสร้าง "แนวร่วม" เพื่อขับเคลื่อนปฏิบัติการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในทุกแง่มุมของสังคมจีน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มศาสนา ชนกลุ่มน้อย พรรคการเมือง เจ้าของธุรกิจ และปัญญาชนที่ไม่ได้สังกัดพรรคคอมมิวนิสต์จีน รวมถึงในสังคมต่างประเทศ

หลักฐานของปฏิบัติการเหล่านี้อยู่ในเป้าหมายที่ระบุไว้ใน UFWD เอง สำหรับชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และศาสนา UFWD พยายามรักษาความสัมพันธ์กับตัวแทนของชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และศาสนา "ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเลี้ยงดูและส่งเสริมเจ้าหน้าที่ภายในชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และศาสนา" และ "ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดําเนินการ “โต้วเจิ้ง” กับกลุ่มดาไลลามะและกองกําลังศัตรูอื่น ๆ ทั้งในและนอกประเทศที่พยายามแบ่งแยกมาตุภูมิ"

โต้วเจิ้ง (Douzheng (鬥爭)) มักแปลว่า "การต่อสู้" เป็นคําศัพท์เฉพาะของพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งหมายถึงความพยายามที่จะทำลายองค์กรที่พรรคมองว่าเป็นศัตรู

สําหรับประเทศและภูมิภาคอื่น ๆ UFWD มีเป้าหมายในการ "เริ่มปฏิบัติการรวมชาติเป็นลําดับแรก" และสร้างเครือข่ายผู้สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์จีนในฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน เพื่อส่งเสริมเป้าหมายของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ผู้อพยพชาวจีนที่ย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศอื่น ๆ ก็อยู่ในขอบเขตความรับผิดชอบของ UFWD เช่นกัน โดย UFWD มีหน้าที่รับผิดชอบในการสื่อสารระหว่าง "ตัวแทน" ของกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเล เฝ้าติดตาม “สถานะ” ของกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเล และส่งเสริมการโฆษณาชวนเชื่อของตนผ่านกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเล ที่จริงเป้าหมายที่ระบุไว้แยกต่างหากของ UFWD คือการ "เริ่มปฏิบัติการโฆษณาชวนเชื่อ" ทั้งภายในและภายนอกพรมแดนของประเทศจีน

ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั่วโลกรับรู้ว่า UFWD เป็นส่วนขยายของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่แทรกซึมเข้าไปยังประเทศอื่น ๆ และอาจเป็นที่มาของอันตรายต่อประเทศเหล่านี้ "ประเทศจีนใช้การทำงานของ 'แนวร่วม' เพื่อร่วมมือและทำให้แหล่งที่มาของการต่อต้านนโยบายและอํานาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีนหมดพิษสง" ตามรายงานของคณะกรรมาธิการทบทวนเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างสหรัฐฯ-จีน (U.S.-China Economic and Security Review Commission) ที่นำเสนอต่อสภาคองเกรสในปี 2022

สถาบันนโยบายยุทธศาสตร์ออสเตรเลีย (Australian Strategic Policy Institute) ระบุว่า "การเข้าถึงระบบแนวร่วมนอกพรมแดนของสาธารณรัฐประชาชนจีน เช่น พรรคการเมืองต่างประเทศ ชุมชนพลัดถิ่น และบริษัทข้ามชาติ เป็นการส่งออกระบบการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน" และเสริมว่า "สิ่งนี้บ่อนทําลายความสามัคคีในสังคม ทําให้ความตึงเครียดทางเชื้อชาติรุนแรงขึ้น มีอิทธิพลต่อการเมือง ทำลายความน่าเชื่อถือของสื่อ อํานวยความสะดวกในการจารกรรม และเพิ่มการถ่ายโอนเทคโนโลยีโดยไม่มีการควบคุมกำกับ"

สถาบันนี้ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เนื่องจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้องค์กรที่ดูเหมือนไม่เป็นพิษเป็นภัยในการปฏิบัติงานแนวร่วม อิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงมักอยู่ในลักษณะ "ซ่อนเร้น" หรือ "หลอกลวง" และยากต่อการติดตาม ในรายงานเดียวกันในปี 2022 คณะกรรมาธิการทบทวนเศรษฐกิจและความมั่นคงของสหรัฐฯ-จีน ได้เสนอแนะให้สภาคองเกรสเก็บ "บัญชีรายชื่อที่ไม่เป็นความลับ" ของกลไกควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งรวมถึง "องค์กรที่เกี่ยวข้องกับกรมงานแนวร่วม" ด้วย

จากการติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์จีนเหล่านี้ เราสามารถเปิดเผยยุทธศาสตร์หลักของ UFWD เพื่อทำลายสังคมนอกประเทศจีน ได้แก่ การให้ทุนสนับสนุนกลุ่มก่อกวน การจัดการสื่อ การจารกรรม และการพยายามเข้าถึงคนในสังคมกระแสหลัก (การติดสินบนชนชั้นนำ)

การให้ทุนเพื่อก่อความไม่สงบในสังคม

นานก่อนที่เครือข่าย Singham จะเริ่มปฏิบัติการ พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ได้มีความเชื่อมโยงทางการเงินกับกลุ่มต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกาที่มีเป้าหมายในการก่อความไม่สงบในสังคมอยู่แล้ว

ในปี 2020 สหรัฐอเมริกาเผชิญกับการประท้วงครั้งใหญ่ทั่วประเทศเนื่องมาจากการเคลื่อนไหว Black Lives Matter (BLM, 黑命貴) ซึ่งเกิดจากความไม่พอใจที่ชาวแอฟริกันอเมริกันตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ตํารวจอย่างไม่เป็นธรรม แม้ว่าจากภายนอก การประท้วงเหล่านี้ส่วนใหญ่ดูเหมือนจะมีเป้าหมายที่สูงส่ง แต่ก็มีหลายเหตุการณ์ที่บานปลายเป็นความรุนแรง สถาบันข้อมูลการประกันภัย (Insurance Information Institute) ประมาณความเสียหายของทรัพย์สินที่มีการประกันภัยซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากความไม่สงบอยู่ระหว่าง 1 ถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทําให้ BLM เป็นเหตุการณ์ความไม่สงบในสังคมที่สร้างความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา

Alicia Garza ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง BLM เริ่มโครงการชื่อ Black Futures Lab เพื่อสนับสนุนการประท้วงเหล่านี้ การสืบสวนโดยมูลนิธิเฮอริเทจ (Heritage Foundation) พบว่าหน้าเว็บการบริจาคของ Black Futures Lab ระบุว่าการบริจาคทั้งหมดมีการดำเนินการผ่านองค์กรที่เรียกว่า China Progressive Association หรือ CPA (中國進步協會)

บทความวิชาการของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดระบุว่า CPA "เริ่มต้นในฐานะองค์กรฝ่ายซ้ายที่สนับสนุนสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยส่งเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับแนวคิดปฏิวัติและสิทธิของคนงานของจีนแผ่นดินใหญ่ และอุทิศตนเพื่อการตัดสินใจด้วยตนเอง การควบคุมชุมชน และ 'การรับใช้ประชาชน'" นอกจากนี้ CPA ยังทํางานร่วมกับ "กลุ่มสนับสนุนสาธารณรัฐประชาชนจีนอื่น ๆ ในสหรัฐฯ " เพื่อบรรลุเป้าหมายของตน

CPA สาขาบอสตันจัดกิจกรรมเชิญธงเพื่อเป็นเกียรติแก่พรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้าร่วมด้วย China Daily ซึ่งเป็นสื่อทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชื่นชม CPA สาขาซานฟรานซิสโก สําหรับการมีส่วนร่วมในการประท้วง BLM

ระหว่างการเยือนซานฟรานซิสโกของสี จิ้นผิง เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอด APEC ในเดือนพฤศจิกายน 2023 หนังสือพิมพ์ Washington Post รายงานว่ามีกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลที่สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างน้อย 35 กลุ่ม ถูกระดมมาเพื่อขัดขวางการประท้วงของกลุ่มต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์จีน หนังสือพิมพ์ Washington Post ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า กลุ่มเหล่านี้ใช้กลวิธีที่รุนแรงที่หลากหลายรูปแบบกับผู้ประท้วงต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์จีน รวมถึงสเปรย์พริกไทยและการจู่โจมเข้าทุบตีร่างกายด้วยอาวุธที่ไม่มีคม พวกเขายังขโมยทรัพย์สินส่วนตัวของผู้ประท้วงต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วย ข้อความ WeChat ที่ได้รับจาก Washington Post ยืนยันว่าสถานกงสุลจีนในลอสแอนเจลิสให้เงินเป็นแรงจูงใจแก่กลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลเหล่านี้ โดยการจ่ายค่าโรงแรมและอาหารในขณะที่พวกเขาอยู่ในซานฟรานซิสโก

การซื้อตัวชนชั้นนำอเมริกัน

มีการตรวจพบร่องรอยของกิจกรรมของ UFWD ในการสนับสนุนบุคคลที่อยู่ในตําแหน่งที่สําคัญที่มีอำนาจในสังคมอเมริกัน กลุ่มที่สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์จีนมักจะให้เงินหรือรางวัลที่เป็นวัตถุอื่น ๆ แก่บุคคลเพื่อแลกกับการกระทําตามความประสงค์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเป็นการบ่มเพาะสายลับของพรรคคอมมิวนิสต์จีนภายในสังคมต่างชาติ โดยคนเหล่านี้จะแสดงท่าทีว่าดำเนินการอย่างอิสระ

ในการพิจารณาคดีในปี 2024 Dr. Robert Atkinson ประธานสถาบันคลังสมองในวอชิงตัน ดี.ซี. ให้การในสภาคองเกรสเกี่ยวกับ “การติดสินบนชนชั้นนํา” ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างแพร่หลาย เมื่อ ส.ส. Andy Biggs ถามว่าใครคือคนที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนพยายาม "ติดสินบน" Dr. Atkinson ตอบว่า "ทุกคน ชนชั้นนำเกือบทั้งหมดที่พวกเขาพยายาม"

การสืบสวนของ Newsweek ในปี 2023 พบความพยายามติดสินบนชนชั้นนำเหล่านี้บางส่วนผ่านการระดมทุนที่เชื่อมโยงระหว่าง UFWD กับผู้สมัครในนิวยอร์ก ตั้งแต่ปี 1990 ถึง 2023 มีการบริจาคเงินเพื่อการรณรงค์หาเสียงมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับนักการเมืองนิวยอร์กทั้งในระดับรัฐบาลกลาง ระดับรัฐ และระดับเมือง ที่สามารถสืบย้อนกลับไปยังกลุ่มและบุคคลที่เชื่อมโยงกับ UFWD

ส.ส. Grace Meng ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดสนใจของการสืบสวนนี้ รับเงินบริจาคที่เชื่อมโยงกับ UFWD มากกว่า 270,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในการรณรงค์หาเสียงของเธอตั้งแต่ปี 2006 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เธอรับเงินบริจาคหลายพันดอลลาร์สหรัฐจาก An Quanzhong ซึ่งเป็นนักธุรกิจชาวจีนที่ถูกตัดสินจําคุก 20 เดือนจากมีส่วนร่วมในปฏิบัติการ “ล่าสุนัขจิ้งจอก (Fox Hunt)” ซึ่งเป็นอุบายของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเพื่อบีบบังคับให้ชาวจีนที่เห็นต่างในต่างประเทศกลับไปยังประเทศจีน เธอยังประกาศ "An Quanzhong Day" ในเขตเลือกตั้งของเธอเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้บริจาครายนี้ด้วย

สมาคมชาวเหอหนานแห่งสหรัฐอเมริกา (Henan Chinese Associates USA (美國河南同鄉會)) ซึ่งเป็นกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลที่เชื่อมโยงกับ UFWD อ้างความดีความชอบว่าได้ช่วยให้ Meng ชนะที่นั่งในสภารัฐนิวยอร์กในปี 2008

ในแวดวงวิชาการของสหรัฐฯ ก็ไม่รอดพ้นจากอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเช่นกัน กรณีที่เป็นข่าวใหญ่คือคดีของ Dr. Charles Lieber ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านนาโนเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งถูกจับกุมในปี 2020 ในข้อหาให้การเท็จกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของเขาในแผน Thousand Talents Plan (TTP, 千人計劃) ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และการฉ้อโกงภาษี

Dr. Lieber ดำรงตำแหน่งผู้วิจัยหลักของกลุ่มวิจัยของเขาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากหน่วยงานรัฐบาลหลายแห่งของสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2008 ถึง 2019 ต่อมาเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์เชิงกลยุทธ์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีอู่ฮั่น (Wuhan University of Technology, WUT) ของจีน และทำสัญญาเข้าร่วมในแผน TTP ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งแต่ปี 2012 ถึง 2015

วัตถุประสงค์เริ่มแรกของแผน TTP คือการดึงดูดนักวิชาการต่างชาติให้เข้ามาทํางานให้กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนและมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับ UFWD สถาบันนโยบายยุทธศาสตร์ของออสเตรเลีย (Australian Strategic Policy Institute) บันทึกว่า "สมาคมนักวิชาการจีนที่กลับจากตะวันตกของ UFWD (UFWD’s Western Returned Scholars Association (WRSA), 欧美同学会) เป็นผู้ดําเนินการสมาคมที่ดูแลผู้เข้าร่วมในแผน TTP อย่างเป็นทางการ"

ในส่วนของสัญญา 3 ปี ของ Dr. Lieber เขาได้รับ "เงินเดือนสูงถึง 50,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ค่าใช้จ่ายสำหรับการครองชีพสูงถึง 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าทำวิจัยที่ WUT ประมาณ 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ" ตามรายงานของกระทรวงยุติธรรม เขาปกปิดการว่าจ้างงานนี้จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

เมื่อเจ้าหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมสัมภาษณ์ Dr. Lieber ในเดือนเมษายน 2018 เขาโกหกและพูดว่าเขาไม่เคยถูกเชิญให้เข้าร่วมใน TTP ในปี 2019 เขา "เป็นต้นเหตุ" ให้มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแจ้งข้อมูลเท็จกับสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health, NIH) อีกครั้งว่า เขาไม่ใช่และไม่เคยเป็นสมาชิกของ TTP หน่วยงานของสหรัฐฯ ทั้งสองให้ทุนสนับสนุนการวิจัยของ Dr. Lieber

เขาถูกตัดสินว่ามีความผิดในปี 2023 ในข้อหาให้การเท็จต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลาง ปกปิดบัญชีธนาคารของจีนที่เขาใช้รับเงินจากโครงการ TTP และปลอมแปลงเอกสารรายการคืนภาษีของเขา โดยรวมเป็นความผิดทางอาญา 6 กระทง ผู้พิพากษาที่รับผิดชอบในคดีนี้ตัดสินให้เขาถูกกักขัง 2 วัน ได้รับการปล่อยตัวภายใต้การคุมประพฤติ 2 ปี พร้อมถูกกักบริเวณในบ้าน 6 เดือน และให้จ่ายค่าปรับและค่าชดเชยรวม 83,600 ดอลลาร์สหรัฐ

แม้จะรับโทษแล้ว Dr. Lieber ยังคงทํางานให้กับมหาวิทยาลัยในจีน และปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ตำแหน่งพิเศษที่ Tsinghua University’s Shenzhen International Graduate School

(ต่อ ตอนที่ 2)