ดร. ลิลี่ เฟิง

(Clearwisdom.net) หลังจากอาชญากรรมอันน่าสยดสยองที่ค่ายมรณะซูเจียถุนถูกเปิดโปงออกมา ประชาคมนานาชาติก็ติดตามการกล่าวหานี้อย่างใกล้ชิด ผู้สื่อข่าวจากดิอิพ็อกไทมส์ (Epochtimes) ได้สัมภาษณ์ ดร. ลิลี่ เฟิง จากโรงเรียนแพทย์เบย์เลอร์ในเท็กซัส

ค่ายมรณะซูเจียถุน

ผู้สื่อข่าว (R): คุณเคยได้ยินเกี่ยวกับค่ายมรณะซูเจียถุนบ้างไหม

ดร. ลิลี่ เฟิง (F): เคยได้ยิน ซูเจียถุนคือการดูหมิ่นชีวิตของผู้ฝึกฝ่าหลุนกงอย่างที่สุด คิดดู คุณถูกจับตัวมารวมกันเพื่อเป็นคลังที่พร้อมให้ผ่าเอาอวัยวะในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อมีคนต้องการปลูกถ่ายอวัยวะที่มีผลตรวจต่าง ๆ เข้าได้กับคุณ คุณก็ถึงฆาตแล้ว คุณจะถูกผ่าเอาอวัยวะออกไป ยังมีอะไรที่เลือดเย็นกว่านี้อีกไหม

ศัลยแพทย์ที่ผ่าตัดเอาอวัยวะเหล่านี้ละเมิดคำปฏิญาณฮิปโปเครตีส และมาตรฐานจริยธรรมขั้นพื้นฐานของแพทย์ ที่จริงคนเหล่านี้ไม่เพียงก่ออาชญากรรมต่อเหยื่อเท่านั้น แต่ยังทำร้ายผู้รับอวัยวะที่ไม่รู้ที่มาของอวัยวะเหล่านั้นด้วย และส่งผลที่เลวร้ายต่อผู้รับอวัยวะในระยะยาว สำหรับคนเหล่านั้นที่ทำการผ่าตัด พวกเขาได้ละเมิดคำปฏิญาณฮิปโปเครตีส

R: ฉันโทรศัพท์ไปที่โรงพยาบาลหลายแห่งในเมืองเสิ่นหยาง แพทย์ระบุว่าไตที่ใช้ทั้งหมดได้มาจากคนหนุ่มสาวที่มีสุขภาพดี การปลูกถ่ายมีอัตราสำเร็จที่ 90% ฉันได้รับแจ้งด้วยว่าผู้ป่วยสามารถเข้าผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะได้ภายในไม่กี่วัน มีเว็บเพจที่อ้างว่าสามารถหาผู้บริจาคที่เข้ากันได้ภายใน 1 สัปดาห์ ศูนย์การปลูกถ่ายอวัยวะระหว่างประเทศระบุว่าพวกเขาสามารถจัดหาอวัยวะได้อย่างสม่ำเสมอ ในมุมมองทางการแพทย์จีน การหาผู้บริจาคเป็นเรื่องง่ายดายเช่นนั้นเชียวหรือ

F: จากการกล่าวอ้างของพวกเขา เรายอมรับว่าในประเทศจีนมีตัวเลขผู้บริจาคอวัยวะเป็นจำนวนมากที่เข้ากันได้อย่างสมบูรณ์กับการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะจำนวนมากภายในระยะเวลาสั้น ๆ นี่จึงเป็นการพิสูจน์ทางอ้อมถึงการมีอยู่ของค่ายมรณะ

จากมุมมองทางการแพทย์ การหาผู้บริจาคที่เหมาะเจาะกันไม่ใช่ง่ายเลย เพื่อลดการเข้ากันไม่ได้ หมู่โลหิตจะต้องเข้าคู่กันได้ และค่า Panel Reactive Antibody (PRA) ให้ผลลบ เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดปฏิกิริยาตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน อันดับแรกหมู่โลหิต (หมู่โลหิต ABO) ของผู้รับและผู้บริจาคจะต้องเหมือนกัน PRA ได้ผลลบจะดีกว่า ผลทางด้านพิษวิทยาของเซลล์ lymphocyte จะต้องน้อยกว่า 100r negative (การทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์โดยตรวจปฏิกิริยาระหว่างซีรั่มของเลือดผู้รับกับ lymphocyte ของผู้บริจาค) อัตราการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ .lymphocyte (จากการบ่มเพาะส่วนผสมของเซลล์ lymphocyte) ต้องน้อยกว่า 20% (การทดลองนี้ใช้เวลา 5 – 6 วัน กว่าจะได้ผล และการใช้ผลทดสอบมีข้อจำกัด) การจับคู่ระบบ HLA (histocompatibility) (ตามแนวทางสากลต้องมีผลทดสอบ 6 จุดของทั้งผู้บริจาคและผู้รับ ได้แก่ HLA-A, HLA-B, HLA- C, HLA-DP, HLA-DQ และ HLA-DR) เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดซึ่งส่งผลต่อศักยภาพของอวัยวะที่เปลี่ยน HLA มีหลายแอลลีล ดังนั้น HLA จึงมีความหลากหลายสูงมาก และแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะหาผู้ที่มี HLA เหมือนกันในกลุ่มคนที่ไม่มีความสัมพันธ์กันทางสายเลือด อย่างไรก็ตาม แม้เช่นนั้นการหาผู้บริจาคไต "ที่มีความสมบูรณ์แบบน้อยกว่านั้น" ในสหรัฐอเมริกายังใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี และมักจะนานกว่านั้น

การได้ไตที่เข้ากันได้ภายใน 1 สัปดาห์ ในประเทศจีนเป็นสิ่งที่ยากที่จะจินตนาการได้ ซึ่งจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าไม่มีผู้บริจาคจำนวนมหาศาล ข้อมูลทางการแพทย์ของผู้บริจาคที่จัดทำขึ้นจะต้องถูกจำแนกแยกแยะไว้ก่อน จากนั้นเมื่อพบอวัยวะที่เข้ากันได้แล้วก็จะต้องทดสอบว่าอวัยวะของผู้บริจาคจะเข้ากันได้กับผู้รับหรือไม่ (cross matching)

R: แพทย์ในเสิ่นหยางบอกว่าได้ไตมาจากนักโทษประหารและเป็นอวัยวะจากคนที่ยังมีชีวิต พวกเขายังบอกอีกว่าการบริจาคเป็นไปโดยสมัครใจ คุณคิดอย่างไร

F: นักโทษประหารอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบ แม้ว่าพวกเขาจะบอกว่าคนเหล่านั้นเต็มใจ แต่มันอาจไม่ใช่ความประสงค์ที่แท้จริงของพวกเขา แม้ว่าเจ้าหน้าที่ศาลไม่ได้บีบบังคับหรือหลอกล่อพวกเขาให้กระทำเช่นนี้ แต่จากสถานะทางกฎหมาย คุณไม่สามารถทึกทักว่าพวกเขาเต็มใจ

ฉันได้ยินมาว่าระบอบการปกครองจีนใช้วิธีการที่โหดร้ายทุกประเภทเพื่อบังคับให้ผู้ที่ถูกกักกันลงนามในเอกสารเพื่อบริจาคอวัยวะ พวกเขากระทำถึงขนาดห้อยหัวของผู้ถูกกักกันลงเป็นเวลานานจนพวกเขาไม่ถึงกับตายแต่ก็ไม่ถึงกับมีชีวิต แม้ว่าพวกเขาจะลงนามในเอกสาร แต่เราก็ไม่อาจพูดได้ว่าพวกเขาทำโดยสมัครใจ

นอกจากนี้ชาวจีนมีความเชื่อที่หนักแน่นว่าควรเก็บรักษาร่างกายไว้ให้สมบูรณ์ครบถ้วน โดยแท้จริงแล้วชาวจีนทั่วไปไม่ประสงค์จะบริจาคอวัยวะใด ๆ หลังจากเสียชีวิต

R: จากรายงานบอกว่าอัตราความล้มเหลวและอัตราการตายของการปลูกถ่ายไตในประเทศจีนสูงกว่าปกติ คุณอธิบายได้ไหมว่าทำไม

F: ฉันขอใช้กรณีการเปลี่ยนไตและการเสียชีวิตของคุณหวัง เหนียนเหวิน ที่โรงพยาบาลหยานหลิง มณฑลกวางตุ้ง เพื่อวิเคราะห์สาเหตุที่เป็นไปได้ของการเสียชีวิตของเขาและปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังการเสียชีวิตนี้ ในบันทึกความเข้ากันได้ของไตของผู้ป่วยของนายหวัง ผลการทดสอบหลายอย่างหายไป ผลที่หายไปอย่างหนึ่งคือการศึกษาด้านพิษวิทยาของเซลล์ lymphocyte ระหว่างผู้บริจาค (ผู้ที่ให้ไต) กับผู้รับ (ผู้ที่ได้รับไต)

ในรายงานของนายหวังมีบันทึก PRA ซึ่งมักใช้เป็นแนวทางในการตัดสินสภาวะที่มีปัญหาของภูมิคุ้มกันของผู้รับอวัยวะ - ค่า PRA ยิ่งสูงแสดงว่าโอกาสที่จะปฏิเสธอวัยวะใหม่ก็จะยิ่งมากขึ้น ขั้นตอนที่ละเอียดคือก่อนการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ ต้องทำการทดสอบ cross conjugation ของส่วนผสมระหว่างซีรั่มของผู้รับกับเซลล์ lymphocyte ของผู้มีสุขภาพดีที่ไม่ได้เกี่ยวข้องมากกว่า 20 คน ทั้งนี้ PRA ไม่สามารถใช้ทดแทนการศึกษา cross conjugation ด้านพิษวิทยาของเซลล์ lymphocyte ระหว่างผู้บริจาคกับผู้รับ การทดสอบนี้เรียกว่าTest Tube Transplant (การปลูกถ่ายในหลอดทดลอง) วัตถุประสงค์ของการทดสอบนี้คือเพื่อดูว่าผู้รับจะปฏิเสธไตของผู้บริจาคหรือไม่ การทดสอบใช้เวลา 4 - 5 ชั่วโมง ถ้าหากเซลล์ของผู้รับฆ่าเซลล์ของผู้บริจาค ผู้รับมีแนวโน้มจะปฏิเสธไต นี่เป็นการทดสอบที่ทำกันมาแต่ดั้งเดิมและจำเป็นต้องทำก่อนการปลูกถ่ายจริง แต่การทดสอบนี้หายไปจากเอกสารทางการแพทย์ของหวัง

อาการของหวังแย่ลง ผลอัลตร้าซาวด์ครั้งที่สามถูกวินิจฉัยว่าเป็นภาวะท่อไตถูกทำลายแบบเฉียบพลัน (acute tubular necrosis) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนหลังจากเปลี่ยนไต อาจเกี่ยวข้องกับการผ่าตัดและการดูแลหลังผ่าตัดว่าทำได้เหมาะสมหรือไม่ และอาจเกี่ยวข้องกับสภาวะของไตของผู้บริจาคก่อนผ่าตัด เวลาที่คนถูกทำร้ายและบาดเจ็บทางกายหรือชอกช้ำทางจิตใจ ร่างกายของเขาจะหลั่งสาร catecholamine ปริมาณมาก ตัวอย่างเช่นการบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรงอาจทำให้มีการสะสมของ catecholamine และส่งผลให้อวัยวะถูกทำลายอย่างถาวร ในกรณีของไตอาจแสดงออกมาเป็นภาวะท่อไตถูกทำลายแบบเฉียบพลัน ที่จริงแล้วบางทีไตที่เสียหายจะทำให้ผลของการผ่าตัดแย่กว่าไตที่มีค่า HLA ไม่เข้ากันเสียอีก จากหลักฐานทางคลินิกพบว่าไตของสามีภรรยาที่มีค่า HLA เข้ากันไม่ดีนักให้ผลดีกว่าไตที่เสียหาย (เช่น จากภาวะท่อไตถูกทำลาย) จากศพที่มีค่า HLA ที่เข้ากันได้ดี

เราได้ยินว่ามีผู้เสียชีวิตมากขึ้นมากขึ้นจากแหล่งอวัยวะที่ไม่ทราบที่มาในประเทศจีน ในไต้หวันมีผู้ป่วยฟอกไต 40,000 ราย และผู้ป่วยเหล่านี้จำนวนมากเดินทางไปเปลี่ยนไตที่ประเทศจีน ตัวอย่างเช่น ประชาชนที่อยู่ในเมืองฉางหัวจำนวนมากเดินทางไปเปลี่ยนไตที่ประเทศจีน ผู้ป่วยรอดชีวิตจากการผ่าตัดเปลี่ยนไตแต่กลับมีสุขภาพไม่แข็งแรง และเสียชีวิตเร็วกว่ารายที่ไม่ได้เปลี่ยนไต เหตุผลอาจมาจากปัญหาทางการแพทย์ แต่ลักษณะสรีระของไตก็สำคัญเช่นกัน เนื่องจากอวัยวะส่วนใหญ่มาจากผู้ฝึกฝ่าหลุนกงและผู้ที่รอการประหาร ซึ่งพวกเขาถูกทรมานมานาน อวัยวะของพวกเขาอาจได้รับบาดเจ็บอย่างถาวร

R: ระบอบการปกครองของจีนปฏิเสธการปล้นชิงอวัยวะจากนักโทษประหารมานานแล้ว แต่มันก็ไม่ใช่ความลับอีกต่อไปแล้ว หวง เจียฝู รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขยอมรับข้อเท็จจริงต่อสาธารณชนเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นี่หมายความว่าอะไร

F: นี่เพียงบอกว่าระบอบการปกครองจีนไม่รู้สึกอะไรเลยเกี่ยวกับการขโมยอวัยวะของคนที่ยังมีชีวิตอยู่อย่างผิดกฎหมาย

R: หลายคนเห็นว่ายากจะเชื่อเรื่องนี้

F: มันไม่ยากเลยที่จะจินตนาการว่าผู้ฝึกฝ่าหลุนกงได้กลายเป็นเหยื่อของการประทุษร้ายในวงกว้างไปแล้ว การประทุษร้ายอย่างโหดเหี้ยมในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมา สื่อจีนหลอกลวงผู้คนจำนวนมาก ความรู้สึกหวาดกลัวทำให้ผู้คนไม่รู้สึกถึงมโนธรรมเมื่อเผชิญกับความโหดร้ายป่าเถื่อนของระบอบการปกครองนี้ ผู้ฝึกฝ่าหลุนกงจำนวนมากกลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย หายสาบสูญ และสูญเสียหลักฐานแสดงตัวตน

เจ้าหน้าที่ไม่สามารถผ่าเอาอวัยวะของนักโทษประหารและเผาทำลายหลักฐานตามชอบใจ แต่ทว่าพวกเขาทำเช่นนี้ได้กับผู้ฝึกฝ่าหลุนกงได้

ไม่ว่าสาธารณชนจะเชื่อเรื่องนี้หรือไม่ ฉันหวังว่าทุกคนจะไม่ปิดหูปิดตากับความโหดร้ายที่เปื้อนเลือดนี้

ความทรงจำและความรู้สึกนึกคิดจะสามารถปลูกถ่ายไปพร้อมกับอวัยวะได้หรือไม่

R: ไม่กี่วันที่ผ่านมา ฉันอ่านบทความเกี่ยวกับความฝันของผู้ที่ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ เขา/เธอฝันถึงผู้ร้ายที่ฆ่าผู้บริจาคอวัยวะให้เขา คุณคิดว่าความทรงจำและบุคลิกภาพของคนคนหนึ่งจะสามารถถ่ายโอนไปยังอีกคนหนึ่งได้หรือไม่

F: งานวิจัยว่าเซลล์มีความทรงจำหรือไม่ และการปลูกถ่ายอวัยวะจะส่งผลให้มีการปลูกถ่ายจิตสำนึกและความทรงจำไปด้วยหรือไม่นั้นยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เนื่องจากมีข้อจำกัดของวิทยาศาสตร์เชิงประจักษ์ เราจึงยังไม่มีวิธีพิสูจน์ว่ามีหรือไม่มีการส่งผลดังกล่าวในขณะนี้ แม้จะมีตัวอย่างจำนวนมากแล้ว

ในปี 1988 นักเต้นบัลเลต์ แคลร์ ซิลเวีย เป็นคนแรกที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายหัวใจและปอดได้สำเร็จ ที่โรงพยาบาลนิวเฮเว่น ในมหาวิทยาลัยเยล แต่บุคลิกเธอเปลี่ยนไปอย่างมาก - ตอนนี้เธอกลายเป็นคนที่มีสองบุคลิก

แพทย์บอกกับแคลร์ว่าผู้บริจาคเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ในรัฐเมน แคลร์ฝันเห็นชายหนุ่มคนหนึ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์และเธอเห็นอุบัติเหตุนี้เมื่อตื่นด้วย ชื่อย่อจากตัวอักษรตัวแรกของชื่อ T.L. ปรากฏต่อหน้าเธอเรื่อย ๆ และเธอทราบว่าชื่อย่อนี้เป็นของผู้บริจาคอวัยวะให้เธอ เมื่อแคลร์เล่าเรื่องนี้ให้หมอของเธอฟัง หมอบอกว่าหัวใจเป็นเพียงที่สูบฉีดโลหิตและปอดเป็นอวัยวะสำหรับแลกเปลี่ยนอากาศเท่านั้น มันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับจิตสำนึกและความทรงจำเลย

เมื่อเวลาผ่านไปแคลร์ยังคงฝันร้ายอย่างต่อเนื่อง เธอค้นพบว่าผู้บริจาคหัวใจให้เธอเป็นชายอายุ 18 ปี ชื่อ ทิม ลาซาลล์ (Tim Lasalle) ในที่สุดการมีสองบุคลิกและอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์รบกวนเธอจนกระทั่งเธอไม่สามารถทำงานตามปกติได้อีกต่อไป แพทย์ไม่สนใจคำถามของเธอ ดังนั้นเธอจึงตัดสินใจค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง

ในที่สุดเธอไปเยี่ยมพ่อแม่ของทิมพร้อมด้วย โรเบิร์ต บอสแนค และพิสูจน์ได้ว่าข้อสงสัยของเธอนั้นเป็นจริง อีกบุคลิกหนึ่งของเธอมาจาก ทิม ลาซาลล์ ซึ่งเป็นผู้บริจาคหัวใจให้เธอ แคลร์เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “เปลี่ยนใจ (Change of Heart)” ในปี 2002 มีการสร้างละครทีวีชื่อ “หัวใจของคนแปลกหน้า (Heart of a Stranger)” จากหนังสือของเธอ นำแสดงโดย เจน ซีมัวร์

ในปี 2003 รายการ Discovery Health Channel มีการอภิปรายเกี่ยวกับการปลูกถ่ายอวัยวะ ตัวอย่างหนึ่งที่กล่าวถึงคือเรื่องของเด็กหญิงอายุ 7 ขวบ ที่ต้องทนทุกข์จากโรคหัวใจเฉียบพลัน เธอได้รับหัวใจจากเด็กหญิงอายุ 10 ขวบ ที่ถูกฆาตกรรมอย่างโหดร้าย เธอฝันร้ายว่าถูกฆาตกรรม สิ่งที่น่าตกตะลึงก็คือเธอสามารถบรรยายรูปพรรณของฆาตกรได้อย่างละเอียด จนตำรวจจับผู้กระทำผิดได้

R: แรงกดดันทางจิตใจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของดีเอ็นเอ (DNA) ได้หรือไม่ อวัยวะของผู้ถูกกักกันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของดีเอ็นเอทำให้เพิ่มโอกาสการปฏิเสธอวัยวะซึ่งเป็นผลมาจากการถูกคุมขังหรือจากแรงกดดันทางจิตใจหรือผลจากการทรมานหรือการประทุษร้ายได้หรือไม่ กล่าวอีกนัยหนึ่งอวัยวะของผู้ถูกกักกันที่บริจาคสำหรับปลูกถ่ายจัดเป็นอวัยวะที่ปกติหรือสุขภาพดีหรือไม่

F: มีการพิสูจน์แล้วว่าแรงกดดันทางจิตใจสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของดีเอ็นเอ ยกตัวอย่างเช่น ยีน BDNF ที่สร้างเซลล์ประสาทอาจเกิดการเติมหมู่เมทิล และได้รับสารอาหารไม่พอเนื่องจากภาวะกดดันทางจิตใจ นอกจากนี้แรงกดดันทางจิตใจยังสามารถเร่งการหดสั้นลงของเทโลเมียร์ที่ส่วนปลายของโครโมโซม ซึ่งจะส่งผลให้ดีเอ็นเอเกิดความไม่เสถียร ผลที่ตามมาคืออายุของเซลล์และอวัยวะต่าง ๆ จะสั้นลง ผู้บริจาคที่เคยประสบแรงกดดันทางจิตใจจึงถือว่าไม่เหมาะสม ผู้รับอวัยวะอาจมีอาการดีขึ้นเล็กน้อยจากการปลูกถ่ายอวัยวะในช่วงสั้น ๆ อย่างไรก็ตามผลที่ตามมายังคงเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

ไม่ว่าอวัยวะจะเป็นของนักโทษประหารหรือไม่ที่อาจเกิด การเปลี่ยนแปลงของดีเอ็นเอเนื่องจากแรงกดดันทางจิตใจยังไม่ได้รับการพิสูจน์ หากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นซึ่งไม่สามารถหาคำตอบได้จากวิธีทดสอบความเข้ากันได้ก็จะเป็นอันตรายต่อผู้รับ การเปลี่ยนแปลงของดีเอ็นเออาจเป็นสาเหตุทางตรงหรือทางอ้อมของการปฏิเสธอวัยวะเรื้อรัง

ฉันมีเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งที่กำลังทำวิจัยเกี่ยวกับการปลูกถ่ายไต เธอพบว่าแม้จะเป็นญาติพี่น้องกันหากผู้บริจาคไม่เต็มใจที่จะให้ผ่าตัดเอาอวัยวะออกมา มีความเป็นไปได้ที่ความสำเร็จของการปลูกถ่ายจะลดลง ผู้เชี่ยวชาญด้านไตในสหรัฐอเมริกาบางคนพบว่าการดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดที่ได้รับการเปลี่ยนไตในประเทศจีนจะยากกว่า เอกสารเกี่ยวกับเรื่องนี้หาได้ยากเพราะจากมุมมองของวิทยาศาสตร์การแพทย์ในปัจจุบัน อวัยวะเป็นเนื้อเยื่อและกลุ่มของเซลล์ที่พิเศษที่มีหน้าที่พิเศษ แม้ว่าบางคนจะมีปัญหาทางด้านจิตใจตามมา พวกเขาจะถูกละเลยและเพิกเฉย เมื่ออวัยวะที่เปลี่ยนมามีปัญหาเกิดขึ้น โดยปกติพวกเขาจะรักษาแบบการปฏิเสธอวัยวะแบบเรื้อรัง

ที่จริงผู้ที่เคยประสบกับแรงกดดันทางจิตใจ มีแนวโน้มที่ระบบประสาทของพวกเขาจะเสียหาย ซึ่งระบบประสาทนี้ทำหน้าที่ควบคุมอวัยวะทั้งหมด ปัญหาของระบบประสาทมีความสัมพันธ์กับความไม่สมบูรณ์ของอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วในปัจจุบัน จากมุมมองนี้จึงน่าสงสัยว่าจะใช้อวัยวะจากนักโทษประหารเพื่อปลูกถ่ายอวัยวะที่สมบูรณ์และปกติได้หรือไม่

ฉันทำงานวิจัยบางชิ้นเกี่ยวกับลำดับคู่เบสในสาย DNA ทั้งหมด (genomic sequence) ของผู้ฝึกฝ่าหลุนกงและของคนทั่วไป ผู้ฝึกฝ่าหลุนกงมีการกระตุ้นยีนและการหายไปของยีนในปริมาณมากกว่าคนทั่วไป การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นอาจปรากฏเป็นความแตกต่างทางพันธุกรรม (genetic differentiation) การเปลี่ยนแปลงชนิดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงโดยรวมของร่างกายผู้บริจาค เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่สอดคล้องกับร่างกายทั้งร่าง อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้รับ ตัวอย่างเช่น อวัยวะของผู้บริจาคบางรายมีการกระตุ้นของยีนมาก แต่เนื่องจากยีนเหล่านั้นของผู้รับไม่ได้ถูกกระตุ้นหรือถูกกระตุ้นในระดับต่ำ ผู้รับอาจเกิดโรคภูมิต้านทานต่อตนเองจากการเปลี่ยนอวัยวะเพราะร่างกายของผู้รับอาจรับรู้อวัยวะใหม่เป็นแอนติเจน วิทยาศาสตร์ปัจจุบันยังไม่ก้าวหน้ามากพอที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้